การค้าขายในยุคเทคโนโลยี ไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน เพราะผู้บริโภคเริ่มมีความฉลาดมากขึ้น ต้องการข้อมูลเพื่อการตัดสินใจซื้อสินค้ามากขึ้น ถ้าเป็นเมื่อก่อน เห็นโฆษณาจากทีวีหรืออ่านหนังสือพิมพ์ เจอประกาศขายสินค้า วันรุ่งขึ้นก็เดินไปซื้อสินค้าชิ้นนั้นแล้ว
แต่คราวนี้ เมื่อทราบข้อมูลจากสื่อข้างต้น ผู้ซื้อจะเดินไปเลือกและพิจารณาสินค้าของจริงจากร้านเสียก่อน สอบถามคนขายจนพอใจ แต่ยังไม่ตัดสินใจซื้อ เดินกลับบ้านมาหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่า มีใครเคยใช้สินค้านั้นหรือยัง, ใช้ไปแล้วเกิดปัญหาอะไรบ้าง , ศึกษาไปจนกระทั่งถึงบริการหลังการขาย เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จึงเข้าไปเช็คราคาขายในเว็บไซต์ ว่ามีร้านออนไลน์ไหนขายถูกกว่า!?!
การทำเว็บไซต์แล้วประกาศขายตรงๆ ว่ามีสินค้านี้ สมรรถะภาพเป็นแบบนี้ รายละเอียดของผลิตภัณฑ์เป็นแบบนี้ จึงดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเกินไป สำหรับนักช๊อปปิ้งยุคไฮเทค...
ผู้ขายจึงต้องรู้จักปรับตัว พัฒนากลยุทธ์ใหม่ๆ ให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค..
ว่าไปแล้ว เว็บขายของข้างต้น ถือว่าเป็นเว็บรุ่นดึก คือ เจ้าของเว็บมีหน้าที่สร้างเนื้อหา ส่วนผู้เข้ามาเห็น ก็มีหน้าที่อ่านและทำความเข้าใจข้อมูลเพียงอย่างเดียว
แต่พอถึงเว็บยุคที่ 2 (Web 2.0) ผู้เยี่ยมชม ไม่ยอมปิดปากเงียบแล้ว ขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย เว็บประเภทนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะความหลากหลายของเนื้อหา เช่น www.wikipedia.org เป็นเว็บสารานุกรม ที่นอกจากมีไว้ค้นหาข้อมูลต่างๆ แล้วเรายังเพิ่มเรื่องที่น่าสนใจเข้าไปได้
เว็บ www.youtube.com ที่กลายเป็นชุมทางวิดีโอคลิปที่ทุกคนสามารถนำวิดีโอที่ตนถ่ายไว้ไปอัพโหลดให้คนทั่วโลกดูได้ ช่องทางนี้ กลายเป็นบันไดไต่ดาว ให้คนในสาขาอาชีพต่างๆ ได้แสดงความสามารถของตนเอง จากกิจกรรมยามว่าง กลายเป็นธุรกิจนับล้าน อย่างเช่น กรณีเด็กหอจากประเทศจีน ที่มาร้องเพลงลิปซิงค์หน้าจอ กลายเป็นศิลปินที่สถานีโทรทัศน์ต้องจ้างไปออกรายการ เรียกเรตติ้งกระฉูด ในทำนองเดียวกัน เจ้าของธุรกิจที่อยากสาธิตภาพสินค้าของตน แบบภาพเคลื่อนไหว ก็นำข้อมูลนั้นมาอัพโหลดหาลูกค้าได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
เว็บไซต์อีกประเภทหนึ่ง คืออนุทินชีวิต หรือ บล็อก (Web-log) ซึ่งเป็นการออกแบบระบบให้บุคคลพิมพ์เรื่องราวที่สนใจลงไป เมื่อมีผู้มาอ่านพบก็ยังร่วมแสดงความคิดเห็นได้ด้วย เช่น www.blogge.com, www.pantown.com, www.oknation.net เจ้าของธุรกิจหลายคนใช้ประโยชน์จากการทำเว็บบล็อก ด้วยการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ของตน, ระบบการทำงาน, แรงบันดาลใจ, ที่มาของผลิตภัณฑ์ ด้วยสำนวนเนื้อหาที่เป็นกันเองมากกว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจ “ความหมาย” ของผลิตภัณฑ์ลึกซึ้งมากขึ้น...
ที่สำคัญ เนื้อหาในเว็บบล็อก มีความเป็นกันเองกับลูกค้ามากกว่าเว็บไซต์ขายของหรือเว็บที่เป็นลักษณะองค์กร
แต่หากผลิตภัณฑ์นั้น มีผู้ใช้แล้วไม่พึงพอใจ นำกลับไปขอเปลี่ยนก็ไม่ได้รับบริการที่ดี พวกเขาก็จะมาสร้างเว็บบล็อก เพื่อโจมตีผลิตภัณฑ์นั้น และบอกกล่าวผู้อื่นให้ระมัดระวัง อย่าไปซื้อสินค้านั้น
เว็บบล็อกจึงเปรียบเสมือนดาบสองคม
สนับสนุนสินค้าก็ได้ เขียนโจมตีก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้เขียน
เจ้าของธุรกิจจะไปห้ามไม่ให้มีก็ไม่ได้ด้วย!!!
นับวันก็ยิ่งมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น หากมีลูกค้าได้อ่านบล็อกที่ประณามธุรกิจตน แล้วเกิดความเชื่อถือก็จะทำให้เกิดวิกฤติกับธุรกิจตนเองได้
ทางออกของเรื่องนี้ จึงขึ้นอยู่กับเจ้าของธุรกิจ ต้องมีจิตใจที่มุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพของสินค้า ไม่เอาเปรียบลูกค้าจนเกินไป สร้างบริการที่ดี มีความรับผิดชอบ พร้อมที่จะแก้ไขปัญหา สร้างความประทับใจให้ลูกค้า
ผมเชื่อว่ายังมีผู้ใช้สินค้าที่ใจเป็นธรรม จะนำ “ความดี” ที่ท่านทำกับเขา ไปเขียนไว้ในบล็อกของเขา
และเวลาที่เว็บบล็อกอื่นเขียนข้อความใส่ร้ายกิจการของท่าน ผมยังเคยเห็นลูกค้าผู้ภักดีเหล่านี้ออกมาปกป้องสินค้า โต้เถียงแทนเจ้าของผลิตภัณฑ์!!!
ขอบพระคุณอาจารย์สิทธิเดชมากค่ะ
ตอบลบอ่านหนังสือรวมถึงบทความของอาจารย์ในเวปแล้ว ได้ความรู้ที่นำไป
ปฏิบัติจริงได้ และตอนนี้ก็กำลังดำเนินการเรื่อง E-commerce ของ
บริษัทตัวเองอยู่
แจ้งให้ทราบนิดนึงว่าตอนนี้ บริษัท บีสมาร์ท มาร์เก็ตติ้ง ที่แต่เดิม
เคยเป็น trader วัสดุอุปกรณ์โรงงานนั้น งานเดิมก็ยังทำอยู่
แต่ได้เพิ่มช่องทาง กลุ่ม อาหารเข้าไปด้วย
โดยตอนนี้บริษัทของเราเป็น distributor ให้กับ บริษัท พีพีเอ็น ฟู้ด
จำหน่าย น้ำพริกมินิทูโก สำหรับคนเดินทาง ค่ะ
เวปไซด์ของบริษัทอยู่ในระหว่างดำเนินการ
ถ้าเสร็จเมื่อไหร่จะเอามาบอกค่ะ
ขอบคุณครับ หวังว่าคงได้ยินข่าวดีเร็วๆ นี้
ตอบลบ