วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดย สิทธิเดช ลีมัคเดช

หลังจากสอนวิชาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตามโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ NEC รุ่นที่ 4 ของมหาวิทยาลัยบูรพา เสร็จเรียบร้อยในวันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552 ผมได้ขอให้ทีมงานจัดส่งใบประเมินของผู้เข้าอบรม เพื่อจะได้รับทราบว่า ผลการสอนเป็นอย่างไร ต้องแก้ไขปรับปรุงส่วนใด ปรากฏว่าผู้เข้าอบรมฯ ส่วนใหญ่มักขอให้สอนเพิ่มเติม เนื่องจากเนื้อหามีรายละเอียดมาก แต่เวลาน้อยเกินไป ผมขอชมว่ารุ่นนี้เป็น ทีมที่มีความกระตือรือล้น ส่งการบ้านกันมากกว่าทุกรุ่นที่ผ่านมา...

ผมไม่รู้ว่าจะมีโอกาสกลับไปสอนเพิ่มเติมพวกเขาหรือไม่ แต่สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ สรุปเนื้อหาของวิชาที่บรรยายไว้แบ่งแยกเป็น 8 ตอนให้พวกเขาศึกษา เก็บไว้ ทบทวน หวังว่าพวกเขาคงมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์ของบทความชุดนี้ ไปพร้อมกับ ผู้เข้าอบรมโครงการ NEC รุ่นก่อนหน้า หรือรุ่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ....และไม่ว่าท่านผู้อ่านท่านใด อยากจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ก็สามารถแสดงความเห็นได้ในแต่ละบทตามอัธยาศรัย เพื่อช่วยกันระดมสมอง ผลักดันให้วงการอีคอมเมิร์ชไทยก้าวหน้าไวขึ้น



บทที่ 1 ความเปลี่ยนแปลง

แม้ว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยให้ธุรกิจลดต้นทุนเรื่องช่องทางการจำหน่าย ลดปัญหาเรื่องสินค้าสูญหาย และช่วยขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียง “เครื่องมืออำนวยความสะดวก” ในการทำธุรกิจเท่านั้น ไม่ใช่ “หลักประกัน” ว่าทำแล้วจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจทุกราย หลายปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ใช้แล้วล้มเหลว เสียเวลาทำกันด้วยซ้ำ!?!

ทำไม จึงเป็นเช่นนั้น!?!

พื้นฐานการค้าออนไลน์ไม่ต่างจากการขายของบนท้องถนน ถ้าเรายืนร้องเรียกคนซื้อแล้ว คนแถวนั้นไม่ซื้อไม่ใช้บริการของเรา ก็ต้อง “เปลี่ยน” (Change) วิธี..

ไอน์สไตน์ บอกว่า การทำอะไรซ้ำๆ แล้วหวังให้ผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงนั้นเป็นความคิดของคนขาดสติ ถ้าจะทำให้ผลลัพธ์แปรเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนส่วนผสม, เปลี่ยนกระบวนการ จึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้!!!
การขายของก็เช่นเดียวกัน

สินค้า ที่ขายไม่ได้นั้น อาจจะยังไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเท่าที่ควรจะเป็น
ถ้าไม่เปลี่ยนของก็ต้องลองเปลี่ยนราคา!!

ถ้าเปลี่ยนราคาแล้วยังขายไม่ได้ ก็แสดงว่าทำเลนั้นไม่ใช่ “กลุ่มเป้าหมาย” ของสินค้าเรา ถ้ายังไม่ยอมเปลี่ยนสินค้าใหม่มาขายแทน ก็ต้องเปลี่ยนสถานที่ เร่ไปเดินขายที่อื่น ซึ่งอาจพบกับคนที่เป็นลูกค้าของเรารออยู่ก็ได้

การค้าก็คือการจับคู่ระหว่าง ความต้องการ (ของลูกค้า) กับ “สิ่ง”ที่พวกเขาต้องการ โดยที่คนขายเป็นเหมือน “แม่สื่อ” (ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตเอง หรือผู้จัดหา) ที่จะต้องชักนำคนสองคนมาอยู่ด้วยกัน ค่าตอบแทนในการดำเนินงานครั้งนี้ก็คือ “ผลกำไร”!!

การทำอีคอมเมิร์ช จึงไม่ใช่แค่การทำเว็บไซต์!

“พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” กลืนความหมายตั้งแต่เริ่มกระบวนการค้า เสาะแสวงหาความต้องการ, หาผลิตภัณฑ์, ประชาสัมพันธ์, สร้างความต้องการ, ตอบสนองความต้องการ, สร้างร้านค้า ตลอดจนขนส่งสินค้าได้ด้วย เช่น ซอฟต์แวร์ ไปยังกลุ่มเป้าหมาย พร้อมรับชำระเงิน โดยอาศัยประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ก่อนที่จะเริ่มค้าขายบนอินเทอร์เน็ต จึงควรสำรวจความพร้อมตัวเองเสียก่อน ว่ามีศักยภาพความเป็นเถ้าแก่ออนไลน์มากน้อยเพียงไร ถ้าดูแล้วไม่มีอยู่เลย จะได้รู้จักหักใจเสียแต่ตอนต้นๆ

1. ยอมรับความเสี่ยง ? การลงทุนทำธุรกิจทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยง ไม่เหมือนกับการเป็นพนักงานประจำ พอสิ้นเดือนก็ได้รับเงินเดือน คงที่ หรือปรับขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ แต่การลงทุนค้าขาย รายได้จะไม่แน่นอนเสมอไป บางเดือนได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเดือนประจำ บางเดือนอาจขาดทุน ดังนั้นผู้ที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจจึงต้องเป็นผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงนี้ได้ การบริหารความเสี่ยงด้านการค้าส่วนหนึ่งก็คือต้องหา “รายได้” ที่เป็นหลักประจำไว้บ้าง, ใช้วิธีกระจายลงทุนในธุรกิจต่างประเภทกัน, การจัดสรรเงินออมสำหรับกรณีฉุกเฉิน หรือบางท่านอาจทำงานประจำไปด้วย โดยแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งมาลงทุนค้าขาย เริ่มจากน้อย พอได้กำไรก็ค่อยๆ ขยายการลงทุน จนธุรกิจอยู่ตัวแล้ว ค่อยลาออกจากงานประจำมาทำแบบเต็มที่ เพราะการใช้เวลาค้าขายบนโลกอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องอยู่เฝ้าร้านทั้งวัน เพียงแค่หมั่นเช็คอีเมล ตรวจสอบสถิติผู้เข้าชม และเพิ่มลดสินค้าบางประเภทเพื่อจูงใจผู้ซื้อเท่านั้น ซึ่งทำได้ทุกสถานที่ ทุกเวลาที่มีอินเทอร์เน็ต ขึ้นอยู่กับการบริหารเวลา ว่าต้องไม่ส่งผลกระทบต่องานประจำ

2. กำหนดเป้าหมาย การเริ่มต้นธุรกิจใดๆ ต้องมีการวางเป้าหมาย พร้อมกำหนดวิธีการ มีเจ้าของสินค้าบางประเภท สร้างเว็บไซต์ขายสินค้าตัวเองขึ้นมา หากดูผิวเผินก็คงเหมือนการเปิดขายสินค้าให้กับทุกคนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าของสินค้ารายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทำเป็นแคตาล็อกให้กับผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่รายหนึ่งดูเท่านั้น แทนที่เขาจะพิมพ์แคตาล็อกเป็นกระดาษ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงและเสียเวลาในการจัดทำมาก เขาก็เพียงแต่แนะนำชื่อเว็บไซต์แล้วให้ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อคลิกเข้าไปดูบนเว็บไซต์นั้น คนซื้อก็รู้สึกว่าเจ้าของสินค้านี้ทันสมัยรู้จักใช้เทคโนโลยี ยิ่งเมื่อได้เห็นสินค้าบนเว็บไซต์ทั้งสีสันและคำบรรยาย ที่ถูกตลาดของตน ก็สั่งสินค้าล็อตใหญ่ทันที เมื่อได้รับออเดอร์นั้นแล้ว เจ้าของสินค้านั้นก็เลิกทำเว็บฯ เพราะถือว่าผลลัพท์ตรงตามเป้าหมายที่ตนกำหนดแล้ว อีกประการหนึ่งยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่าตนจะไม่ขายสินค้าแข่งกับห้างนั้น เป็นการ "เอาหน้า" ได้อีกด้วย

3. รู้จักวางกลยุทธ์ การพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ต้นทุนการเปิดร้านค้าออนไลน์นั้นต่ำมาก เฉลี่ยเดือนละ ไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น ทำให้ธุรกิจไม่ว่าขนาดใหญ่หรือเล็ก เข้ามาเปิดเว็บไซต์แข่งขันกันได้ ผู้ซื้อเองก็จะได้เห็นสินค้าผ่านจอเหมือนกัน การลงทุนเม็ดเงินจำนวนมากจึงไม่ใช่เครื่องชี้ชัดว่าจะประสบความสำเร็จ ในช่วงปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าบริษัทดอทคอมที่มีเงินทุนขนาดใหญ่ ล้มหายตายจากวงการไปเป็นจำนวนมาก ที่มีอยู่ก็ต้องปรับกลยุทธ์ ศึกษาสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่หลับหูหลับตาทุ่มเงินเพียงอย่างเดียว ผู้ที่จะค้าขายออนไลน์จึงควรเริ่มต้น คิดค้นกลยุทธ์ทางการตลาดว่าจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของตนอย่างไร จะหาสินค้าประเภทใดที่มีความแปลกใหม่ ตรงใจและได้กำไรสูงสุด โดยเสียค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดอย่างไร หากท่านจำกรณี "ปลาทูออนไลน์" ที่เป็นข่าวโด่งดังตามสื่อต่างๆ เมื่อหลายปีมาแล้ว ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือวิทยุต่างประโคมข่าว ความน่าสนใจในการเลือกสินค้านี้มาขายบนเว็บไซต์อย่างมาก เมื่อประเมินค่าใช้จ่ายเพื่อทำสื่อประชาสัมพันธ์สินค้านี้แล้ว ต้องไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า เจ้าของเว็บไซต์ ไม่ต้องควักเงินตนเองจ่ายสักบาท แถมยังได้ค่าตัวจากการเป็นนายแบบโฆษณาสินค้าคอมพิวเตอร์ยี่ห้อหนึ่งอีกเกือบสองหมื่นบาท ติดปลายนวมด้วย

4. ประเมินความสามารถของตน คนที่เริ่มต้นค้าขายออนไลน์นั้น มักจะสอบถามอยู่เสมอว่า "สินค้า" อะไรที่ขายดีในอินเทอร์เน็ต การได้ข้อมูลเหล่านี้ ควรนำไป "ต่อยอด" และปรับให้เข้ากับ “จุดแข็ง” ของตนเอง ที่สำคัญต้องรู้ศักยภาพของตนเอง ไม่ใช่พอรู้ว่า "อัญมณี" ขายดี เพราะเว็บไซต์ ไทยเจมส์ สร้างรายได้ เดือนละหลายสิบล้านบนเว็บ แล้วอยากขาย "เพชร" แข่งบ้าง โดยที่ตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูอัญมณี แบบนี้ก็คงยากที่จะประสบความสำเร็จ หรือแม้แต่ "ดอกไม้" ที่เห็น "มิสลิลลี่" ขายดิบขายดี แล้วอยากจะขายดอกไม้ในอินเทอร์เน็ตบ้าง โดยที่ตนเองเป็นคนแพ้เกสรดอกไม้ แบบนี้ก็รุ่งยาก ที่สำคัญ ต้องยอมรับว่า การขายของบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น ส่วนใหญ่จะได้คำสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ แต่ตนเองไม่เก่งภาษาอังกฤษเลย หาผู้ช่วยก็ไม่ได้ แถมยังไม่ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมอีก แบบนี้ต้องล้มความคิดที่จะ "โกอินเตอร์"
สิ่งที่คนค้าขายไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือค้าบนดิน ต้องมีไว้ประจำตัวก็คือเรื่อง "ความรับผิดชอบ" ถ้าไม่รับผิดชอบ ลูกค้าก็จะซื้อของกับท่านเพียงครั้งเดียวแล้วก็จะ "เข็ด" ผู้ค้าบางรายที่ให้บริการลูกค้าดี ลูกค้าเกิดความประทับใจ ก็จะบอกต่อๆ กัน ซึ่งได้ผลมากกว่าการที่ท่านต้องเสียเงินจ้างคนโฆษณามาบอกว่าท่าน "ดี" อีกด้วย

ดังนั้น ต้องประเมินความสามารถของตนเองเสียก่อน ทุกคนมี "จุดดี" และ "จุดด้อย" ต้อง"วิเคราะห์" ให้ได้ว่าตนควรทำอะไร ? ถ้ามีความสามารถในการผลิตสินค้า เพราะมีความพร้อมด้านโรงงาน, วัตถุดิบ ก็ควรมุ่งพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดีที่สุด หากยังไม่เก่งการตลาด ก็ค่อยไปหาความรู้เพิ่มเติมมาลบ "จุดด้อย" ของตน
บนโลกอินเทอร์เน็ต นอกจากจะเป็นตลาดค้าขายสินค้าแล้ว ยังเป็น ห้องสมุดขนาดใหญ่ให้ ผู้ประกอบการธุรกิจได้ศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา

ก่อนจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ก็ต้องเริ่มสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเอง เสียก่อน...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น