วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

บทที่ 6 การส่งของและชำระเงิน


บทที่ 6 การส่งของและชำระเงิน

ข้อดีของอีคอมเมิร์ชประการหนึ่ง คือยังไม่มีใคร สามารถขโมยของผ่านจอมอนิเตอร์ได้ แต่มีผู้ประกอบการธุรกิจหลายรายที่ส่งสินค้าไปให้ลูกค้าแล้ว ไม่ได้รับเงินค่าสินค้า คิดแบบนี้ ก็เหมือนถูกขโมยของไปเหมือนกัน แต่น่าเจ็บใจกว่าเพราะเจ้าของสินค้าเป็นผู้ห่อของส่งให้โจรด้วยมือของตัวเองแท้ๆ

ดังนั้น ก่อนที่จะส่งของให้กับลูกค้านั้น ต้องพิจารณาคำสั่งซื้ออย่างละเอียดถี่ถ้วน ว่ามีพิรุธตรงจุดใดบ้าง เช่นสั่งซื้อปริมาณมากผิดปกติ เพราะหากเป็นลูกค้าที่ไม่เคยเห็นสินค้าจริงมาก่อนน่าจะขอสินค้าตัวอย่างมาดูก่อน ว่าเหมือนภาพที่แสดงหรือไม่ เมื่อพอใจแล้วจึงค่อยสั่งซื้อ

สินค้าที่ตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการโจรกรรมก็คือสินค้าแบรนด์เนม , อัญมณี และสินค้าที่แปรเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น โทรศัพท์มือถือ, โน๊ตบุ๊ค, กล้องดิจิตอล

ผู้ประกอบการธุรกิจจึงควรออกแบบระบบการส่งของและชำระเงินให้รัดกุม คนขายบางคนให้ผู้ซื้อโอนเงินเข้าบัญชีก่อน ค่อยส่งสินค้า วิธีนี้แม้จะตัดปัญหาการส่งสินค้าแล้วไม่ได้เงินโดยเด็ดขาด แต่ก็อาจเสียลูกค้าหลายรายที่ไม่มั่นใจว่าโอนเงินไปแล้วจะได้รับสินค้าหรือไม่ การออกแบบเว็บไซต์จึงต้องมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น คำชมจากผู้ที่เคยซื้อสินค้าไปแล้ว, หมายเลขพัสดุการส่งสินค้าจริงจากกรมไปรษณีย์ หรือแม้แต่สถานที่ทำการอย่างเป็นหลักแหล่ง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ซื้ออุ่นใจขึ้น

วิธีการส่งสินค้าที่ดูเป็นธรรมสำหรับทั้งสองฝ่ายก็คือการนัดสถานที่เพื่อรับสินค้าและชำระเงินสด เหมือนยื่นหมูยื่นแมว โดยอาศัยร้านฟาสต์ฟู๊ด, ร้านกาแฟในห้างสรรพสินค้า หรือตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น
การส่งสินค้าแบบพัสดุเก็บเงินปลายทาง (พกง.) เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของผู้ขาย เพราะเมื่อผู้ขายส่งสินค้าทางไปรษณีย์แล้ว ผู้ซื้อจะได้รับไปรษณีย์บัตรให้ไปรับของที่ทำการไปรษณีย์ใกล้บ้าน และต้องชำระค่าสินค้าให้กับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์เรียบร้อยเสียก่อนจึงจะรับพัสดุสินค้าได้ จากนั้นไปรษณีย์ก็จะส่งตั๋วแลกเงินหรือธนาณัติให้กับผู้ขาย การส่งวิธีนี้จะมีค่าส่งเพิ่ม ผู้ขายจึงต้องตกลงกับผู้ซื้อให้ดีเสียก่อนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้

มีผู้ประกาศขายโทรศัพท์มือถือรายหนึ่ง ส่งสินค้าด้วยวิธีนี้ แต่เมื่อผู้ซื้อไปรับที่ไปรษณีย์ปรากฏว่าภายในกล่องนั้นมีเพียงขวดเปล่าเครื่องดื่มบำรุงกำลัง (การเปิดกล่องพัสดุควรเปิดต่อหน้าเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ด้วย ในกรณีที่เกิดปัญหาสินค้าแตกหักเสียหาย หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ จะได้มีพยานช่วยยืนยัน)
บังเอิญว่าผู้ซื้อรายนี้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงทำการสืบสวนและจับกุมผู้ขายได้ แม้ว่าเขาจะอธิบายว่า การส่งขวดเปล่ามาให้เป็นขั้นตอนหนึ่งของการส่งสินค้า ว่ามีตัวตนผู้ซื้ออยู่จริง เมื่อได้ขวดเปล่าแล้วผู้ซื้อต้องโทรไปบอกผู้ขาย จะได้ส่งสินค้าของจริงมาให้ โดยผู้ขายอ้างว่า ที่ต้องทำแบบนี้ เพราะเคยส่งสินค้ามาให้ ปรากฏว่าไม่มีผู้มารับ ของต้องติดอยู่ที่ทำการไปรษณีย์หลายวัน กว่าสินค้าจะตีกลับไปถึงเขา โทรศัพท์มือถือก็ตกรุ่น หมดราคาไปแล้ว เขาเลยต้องใช้วิธีนี้เพื่อพิสูจน์ว่ามีผู้มารับสินค้าจริงๆ

ปรากฏว่าเหตุผลนี้ ผู้ซื้อไม่ยอมรับฟัง จึงต้องดำเนินคดีกับผู้ขาย เพราะเหตุว่าไม่ยอมบอกกระบวนการอันซับซ้อนนี้ให้ทราบแต่ทีแรก...

การชำระเงินด้วยบัตรเครดิต เป็นวิธีที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่นิยมใช้กัน เนื่องจากในกรณีที่ไม่ได้รับสินค้า หรือผู้ขายส่งสินค้าผิดลักษณะมาให้ ถึงเวลาที่ธนาคารส่งใบแจ้งหนี้มาก็สามารถที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินได้
ผมเคยมีประสบการณ์เรื่องนี้ เมื่อต้องสั่งซื้อซอฟต์แวร์จากเว็บไซต์ในต่างประเทศแห่งหนึ่ง ความจริงหากเขาส่งพาสต์เวิล์ดมาให้ ผมก็ดาวน์โหลดโปรแกรมได้แล้ว แต่ปรากฏว่า ไม่เคยมีการตอบรับจากเว็บไซต์เลย แม้อีเมลไปทวงถามก็เงียบ...จนกระทั่งทางธนาคารส่งใบแจ้งหนี้ประจำเดือนมาให้ และมีรายการเรียกเก็บเงินจากการสั่งซื้อสินค้านี้รวมอยู่ด้วย

ผมโทรศัพท์ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งนั้น โดยบอกว่าไม่ได้รับสินค้า ขอให้ธนาคารทำเรื่องยกเว้นการชำระเงินจำนวนนี้ด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นในรอบบัญชี ผมจะนำเงินไปชำระตามกำหนด เจ้าหน้าที่ฯ ได้สอบถามว่าเคยอีเมลไปทวงถามผู้ขายหรือไม่ ผมจึงแฟกซ์หลักฐานการทวงถามไปให้ทางธนาคารพิจารณา เจ้าหน้าที่รายนั้นพยายามเกลี้ยกล่อมให้ผมชำระยอดเต็มทั้งหมดก่อน เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่า ผู้ขายไม่ส่งสินค้ามาให้ ก็จะดำเนินการคืนเงินจำนวนนั้น ซึ่งผมยังคงยืนยันว่าผมจะชำระค่าสินค้าเฉพาะที่ใช้บริการจริงเท่านั้น

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา เจ้าหน้าที่ธนาคารฯก็โทรมาแจ้งว่า ได้ระงับการใช้บัตรเครดิตหมายเลขดังกล่าวของผมแล้ว เพราะมั่นใจว่าเว็บไซต์นั้น ไม่ได้ขายสินค้าจริง เป็นเพียงเว็บที่ตั้งขึ้นเพื่อล่อให้ผู้ซื้อกรอกหมายเลขบัตรเครดิต แล้วหวังจะขโมยข้อมูลบัตรไปใช้ซื้อสินค้าจากเว็บไซต์อื่น ดังนั้นเพื่อตัดปัญหานี้ ทางธนาคารจึงยกเลิกหมายเลขบัตรเดิมผม และจะออกบัตรเครดิตหมายเลขใหม่ให้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยไม่ลืมทิ้งท้ายว่าขอให้ผมไปชำระเงินค่าสินค้าจากการใช้บัตรเครดิตใบเดิมตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่ได้รับบริการจริง!

เรื่องนี้ หากคิดต่อก็น่าเห็นใจผู้ขายสินค้าบนโลกออนไลน์ ที่มิจฉาชีพนำข้อมูลจากบัตรผมไปกรอกหลอกลวงซื้อสินค้า เพราะถ้าบัตรเครดิตของผมไม่ถูกระงับ ระบบก็จะตรวจสอบได้ว่าบัตรผมยังไม่หมดอายุ, ยังมีวงเงินเหลือเพื่อซื้อสินค้าได้, ชื่อกับหมายเลขบัตรเครดิตกรอกถูกต้อง ธนาคารก็จะออกรหัสอนุมัติให้ผู้ขายรับเงินค่าสินค้าได้โดยอัตโนมัติ!

ผู้ขายบนโลกออนไลน์หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า เงินที่ตนได้รับเข้าบัญชีนั้นเป็นเงินของลูกค้า แต่อย่าลืมว่า บัตรเครดิตนั้น ธนาคารจะเป็นผู้สำรองเงินสดจ่ายให้ก่อน แล้วจึงค่อยส่งใบแจ้งหนี้มาแจ้งให้เจ้าของบัตรเครดิตไปชำระเงินที่ธนาคารภายหลัง เมื่อเจ้าของบัตรปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะไม่ได้เป็นผู้ทำรายการนั้น ธนาคารก็จะมาทวงเงินที่เคยโอนให้คนขายกลับคืน ถ้าคนขายไม่ยอมคืนเงินจำนวนนั้น ธนาคารก็จะหักจากวงเงินค้ำประกันแทน

ดังนั้นผู้ขายสินค้าซึ่งมีบัญชี (Merchant ID) กับธนาคารจึงควรหาวิธีป้องกันมิจฉาชีพเหล่านี้ เช่น ให้ธนาคารตรวจสอบลักษณะการทำรายการสั่งซื้อ จากเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งแต่ละเครื่องจะมีหมายเลข IP Address ถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นมีการสั่งซื้อมากผิดปกติ หรือคำสั่งซื้อนั้นมาจากประเทศที่มีการทุจริตบ่อย (ส่งของไปแล้ว เก็บเงินไม่ได้) ธนาคารก็จะมีการเก็บข้อมูลเหล่านี้เพื่อเตือนผู้ขายให้ระมัดระวังก่อนส่งสินค้า

เคยมีผู้ทำเว็บไซต์ขายช้อนส้อมไปต่างประเทศ วันหนึ่งเธอโทรศัพท์มาเพื่อปรึกษาว่าได้รับคำสั่งซื้อ ช้อนส้อมเงินถึง 2,000 คู่ เธอไม่แน่ใจว่าควรจะส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อรายนี้ที่อยู่อเมริกาดีหรือไม่ เพราะมูลค่าของสินค้าค่อนข้างสูงอยู่เหมือนกัน ผมพยายามประสานงานโดยให้ธนาคารช่วยตรวจสอบคำสั่งซื้อนี้ให้ แต่อีก 2 วันถัดมาเธอก็บอกจัดส่งสินค้าไปให้เรียบร้อยแล้ว ทำเอาผมตกใจระคนกับแปลกใจว่าเธอแน่ใจได้อย่างไร ว่าจะไม่ถูกลูกค้ารายนี้โกง

เธอเล่าว่า เข้าไปในเว็บไซต์ http://www.google.com/ แล้วลองเสิร์ชหาชื่อลูกค้ารายนี้ ปรากฏว่าเขาเป็นเจ้าของภัตตาคารหลายแห่งในอเมริกา ด้วยเหตุนี้ เธอจึงมั่นใจว่า เขาเป็นลูกค้าตัวจริง และมีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ของเธอ...

วิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีในการตรวจสอบ และป้องกันความเสี่ยงของผู้ขายบนโลกออนไลน์!?

มีอีกวิธีหนึ่งที่เจ้าของเว็บไซต์สามารถตรวจสอบ ความเป็นเจ้าของบัตรเครดิตที่แท้จริงได้ ด้วยการให้ผู้ทำรายการสั่งซื้อ สแกนใบแจ้งหนี้ที่ธนาคาร ส่งให้กับเจ้าของบัตรทุกเดือนมาเพื่อยืนยันและตรวจสอบที่อยู่ให้ถูกต้องตรงกันได้ แต่ในกรณีที่ผู้ทำรายการ ระบุให้ผู้ขายส่งไปให้กับบุคคลที่สาม ซึ่งมีที่อยู่คนละที่กับผู้ถือบัตร โดยอ้างว่าเป็นของขวัญ ก็ยังคงเป็น “ความเสี่ยง” ที่ผู้ขายต้องรับผิดชอบ

ทางผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตเองก็รับรู้ถึงปัญหานี้ จึงคิดค้นระบบตรวจสอบเจ้าของบัตรตัวจริง โดยผู้ที่จะทำการสั่งซื้อสินค้าด้วยบัตรเครดิตจะต้องไปขอรหัสประจำตัว 4 หลัก (คล้ายรหัสบัตรเอทีเอ็ม) เพื่อเป็นการระบุว่า การสั่งซื้อสินค้า ในขณะนั้น เจ้าของบัตรเป็นผู้ลงมือทำรายการด้วยตนเอง

การค้าขายที่มีผลประโยชน์ กับการทุจริต เปรียบไปก็เป็นเหมือนเส้นขนานที่ต้องมีควบคู่กันไป
ผู้ที่คิดจะค้าขายไม่ว่าบนโลกออนไลน์ หรือเช่าร้านเปิดขายสินค้าในช่องทางปกติ คงต้องระมัดระวังกันเอง ว่า อย่าให้เส้นขนานนั้นวิ่งมาบรรจบกัน!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น