วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

บทที่ 5 ทำให้คนซื้อของบนเว็บไซต์


บทที่ 5 ทำให้คนซื้อของบนเว็บไซต์



หลังจากที่ ทำเว็บไซต์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจต้องหาวิธีเปลี่ยนผู้เยี่ยมชม (Visitor) ให้เป็นผู้ซื้อ (Buyer) เว็บไซต์นั้นจึงจะเกิดรายได้ ปัจจัยที่ผู้เยี่ยมชมจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากเว็บไซต์นั้นประกอบไปด้วย


1.สินค้า เป็นที่ต้องการของตลาด สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่า สินค้าที่มีการซื้อขายมากผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในปี พ.ศ. 2550 มีดังนี้


1.1 คอมพิวเตอร์ , อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 18.6 %
1.2 กลุ่มสินค้า แฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณี 18 %
1.3 ธุรกิจบริการ การศึกษา, ประกันภัย 9.4 %
1.4 การท่องเที่ยว, โรงแรม, รีสอร์ต 7.6 %
1.5 ยานยนตร์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 6.0%
1.6 สิ่งพิมพ์และเครื่องใช้สำนักงาน 4.8 %


จะเห็นว่า สินค้าเกือบทุกประเภทขายผ่านอินเทอร์เน็ตได้ แต่ต้องพิจารณาความสามารถของตัวเองด้วยว่ามี “จุดแข็ง” เพื่อเข้าไปสู่การแข่งขันในตลาดนั้นได้หรือไม่ !? เพราะหากไม่มีความแตกต่างเรื่องของตัวสินค้าแล้ว ผู้ซื้อจะไปพิจารณาเรื่องของ “ราคา” แทน


2.ราคา หากเป็นสินค้าที่ผู้ซื้อมีความคุ้นเคยดีอยู่แล้ว เมื่อเปิดเว็บไซต์ขายสินค้านั้นในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ก็จะได้รับคำสั่งซื้อทันที มีเว็บขายสมุนไพรแห่งหนึ่ง เพียงนำกล่องสินค้ากวาวเครือ ที่มีแบรนด์ ผลิตในประเทศไทย แต่เป็นที่นิยมในฮ่องกง มาแสกนประกาศขายในเว็บไซต์ของตน โดยที่ยังไม่ได้พิมพ์รายละเอียดของสินค้าเลย แค่ลูกค้าเห็นยี่ห้อกล่องก็ทำรายการสั่งซื้อผ่านบัตรเครดิตมาแล้ว เพราะเห็นว่าราคาแม้รวมค่าขนส่งจากประเทศไทยมาแล้วก็ยังมีราคาขายต่ำกว่าที่วางจำหน่ายในร้านของฮ่องกง


3. นโยบายการค้าที่เป็นธรรม ด้วยเทคโนโลยีของระบบสถิติในเว็บไซต์ ทำให้เราเก็บข้อมูลจำนวนการคลิกเข้าเยี่ยมชมเว็บเพจหน้าต่างๆ ได้ จะพบว่า นอกจากหน้าสินค้ายอดฮิตแล้ว ลูกค้ามักเข้าไปดูนโยบายการรับคืนสินค้า (Return Policy) ด้วยว่า มีการรับประกันสินค้า หากเกิดปัญหาหรือไม่ ดังนั้นเว็บไซต์ขายสินค้าที่ดีจึงควรมีนโยบายในเรื่องนี้อย่างเป็นธรรมแก่ผู้ซื้อด้วย เพื่อทำให้ลูกค้ารู้สึกลดความเสี่ยงในการซื้อสินค้า เหมือนเวลาที่เราซื้อของแล้วได้ใบรับประกัน แม้เพียงเป็นกระดาษใบเดียว แต่ก็ช่วยให้อุ่นใจขึ้น


4. เว็บไซต์มีความน่าเชื่อถือ นอกจากประวัติการดำเนินงานแล้ว การออกแบบโครงสร้าง, ตัวอักษร, สีสัน การใช้งานระบบ, การเชื่อมโยงลิงค์ต่างๆ ก็มีส่วนที่จะเพิ่มน้ำหนักคุณค่าในการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าควรจะตัดสินใจซื้อหรือไม่ ? ในกรณีมีระบบชำระเงินก็ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยประกอบด้วย เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าข้อมูลอันเป็นความลับของเขาจะไม่รั่วไหล และกลับมาสร้างความลำบากให้กับเขาในอนาคต


5. บริการตอบรับอย่างรวดเร็ว ถือเป็นความรับผิดชอบของคนทำอีคอมเมิร์ช เพราะการทำรายการสั่งซื้อผ่านหน้าจอนั้น อาจเกิดปัญหาได้ทุกขั้นตอน เมื่อลูกค้าทำรายการติดขัด หรือมีข้อสงสัยใด แล้วอีเมลไปถาม หากได้คำตอบที่ช้า ข้ามวันไป ก็มีส่วนทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจ ไม่อยากใช้บริการ เพราะเกิดความไม่มั่นใจ ดังนั้นทันทีที่ได้รับคำสั่งซื้อออนไลน์จากลูกค้า ผู้ขายควรจะรีบติดต่อกลับให้ผู้ซื้อทราบทันที ไม่ว่าจะเป็นข้อความขอบคุณที่ใช้บริการ หรือรายงานสถานะของการจัดส่งสินค้าว่าวันไหน ของจะถึงมือลูกค้า


6. กิจกรรมส่งเสริมการขาย การมีเว็บไซต์ก็เหมือนการเปิดร้านขายของ ลูกค้าคลิกเข้ามาดูสินค้าได้ทุกวัน ดังนั้น หากยังไม่จำเป็นที่ต้องใช้สินค้า ก็นอนใจ ไม่สั่งซื้อ เจ้าของธุรกิจจึงต้องใช้กลยุทธ์การตลาด กระตุ้นให้ลูกค้าเร่งตัดสินใจซื้อ โดยใช้กรอบระยะเวลาเป็นตัวกำหนด เช่น ซื้อภายในเดือนนี้จะได้รับส่วนลดพิเศษ หรือแถมสินค้า เป็นต้น และเมื่อถึงเวลาที่กำหนดแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่น อย่าปล่อยวันหมดเขตค้างอยู่บนเว็บเด็ดขาด!


7. ทำเว็บไซต์ให้มีชีวิตชีวา ร้านค้าที่ไม่มีการปรับปรุงร้าน ลูกค้าจะเกิดความเบื่อหน่าย จำเจ เว็บไซต์ถ้าไม่มีการปรับปรุง จะทำให้คนเข้ามาซื้อไม่แน่ใจว่าเว็บนี้ เจ้าของยังเปิดทำการอยู่หรือเปล่า !? ดังนั้น ควรมีการปรับปรุง เพิ่มรายการสินค้าใหม่ อย่างน้อยวันเว้นวัน หาสินค้าที่เหมาะสมกับเทศกาลมาจำหน่าย ผู้เข้าเยี่ยมชม แม้ไม่ตัดสินใจซื้อวันนี้ ก็ยังอยากเข้ามาติดตามดูว่าจะครั้งต่อไปจะมี “สิ่งใหม่ๆ” ที่โดนใจเขาหรือไม่!?!


8. สร้างสมาชิก การทำให้ผู้เยี่ยมชม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ จะทำให้พวกเขาเกิดความผูกพัน มีหลายเว็บไซต์ที่เปิดมาให้ความรู้เรื่องต่างๆ โดยผู้สนใจจะต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิก เมื่อมีการรวมตัวกันมากขึ้น เว็บไซต์นั้นก็ทำการผลิตสินค้าที่ระลึกออกจำหน่ายให้กับสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า, เสื้อยืด, แก้วน้ำ กลายเป็นสินค้าที่ขายดี บางทีไม่ต้องผลิตมาก ทำเฉพาะเท่าที่สมาชิกสั่งซื้อ ด้วยวิธีนี้ก็ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องสินค้าค้างสต๊อก


9. สร้างทางเลือก การทำเว็บไซต์นั้น นอกจากจะต้องมีสินค้าหลากหลายให้ลูกค้าเลือกแล้ว การรับส่งสินค้าก็ควรมีหลายวิธี, แม้แต่ระบบชำระเงิน ถ้าเป็นการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารก็ควรมีหลายธนาคาร, มีระบบชำระเงินผ่านบัตรเครดิตต่างๆ ให้ลูกค้าเลือกทำรายการสั่งซื้อสินค้าได้ทันที นอกจากนั้น ช่องทางการติดต่อสื่อสาร ที่มีอีเมลหรือเว็บบอร์ดแล้ว ก็ควรต้องมี ศูนย์กลาง Call Center เพื่อแก้ปัญหาที่ลูกค้าต้องการทราบคำตอบอย่างเร่งด่วนให้เลือกด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น