วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

บทที่ 3 การประชาสัมพันธ์


บทที่ 3 การประชาสัมพันธ์

ในอดีตที่มีผู้ผลิตสินค้าน้อยรายนั้น เขาเพียงทำสินค้าให้ดีก็มีคนมาซื้อแล้ว แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ผู้บริโภค ไม่รู้ว่าจะเลือกใช้สินค้าของใครดี ในขณะที่ผู้ผลิตเองก็ต้องแย่งลูกค้าที่มีอยู่จำกัดให้ได้มากที่สุด หรือไม่ก็ต้องพยายามพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อสร้างความต้องการให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
การผลิตแชมพู จึงไม่เพียงทำความสะอาดเส้นผมเท่านั้น ยังต้องเพิ่มครีมนวดบำรุง, เสริมสร้างเส้นผมใหม่ แก้ผมร่วง เพื่อให้ผู้ใช้ประหยัดเวลาสระ และยังแยกย่อยออกเป็นแชมพูสำหรับคนเส้นผมแห้ง, ผมมัน, ผมธรรมดาอีก

การผลิตสินค้ายุคนี้จึงต้องมี “คุณสมบัติพิเศษ” เพื่อทำให้ตัวเองแตกต่างจากสินค้าคู่แข่ง

ที่สำคัญต้องรู้จักนำ “จุดแข็ง” นี้มาประชาสัมพันธ์บอกให้กลุ่มเป้าหมายทราบด้วย....

ในขณะที่การประชาสัมพันธ์ “จุดขาย” ผ่านสื่อวิทยุ, โทรทัศน์ หรือสิ่งพิมพ์ นั้นทำได้เพียงแจ้งข่าวสารให้กลุ่มเป้าหมายรับทราบ แล้ว พวกเขาต้องเดินทางไปซื้อยังจุดที่วางจำหน่าย เช่นห้างสรรพสินค้า , ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ซึ่งบางครั้ง ลูกค้าต้องเจอกับปัญหาสินค้าหมด!..สินค้ายังไม่ถูกนำมาส่งที่ร้าน ทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจหันไปใช้สินค้าของคู่แข่งที่วางขายในร้านขณะนั้นแทน..

แต่การสร้างเว็บไซต์ แล้วนำไปประชาสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะโดยวิธีแจ้งผ่านทางอีเมล หรือตั้งเป็นกระทู้ในเว็บไซต์ชุมชนต่างๆ เมื่อลูกค้าอ่านพบแล้วกดลิงค์มาเจอเว็บไซต์ของสินค้า ก็ดำเนินการสั่งซื้อ หรือโอนเงินชำระค่าสินค้าได้ทันที

ข้อเสียของสินค้าประเภทจับต้องได้ ที่ซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตก็คือ ต้องใช้เวลารอคอย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ขายต้องตรวจเช็คเมล, คำสั่งซื้ออยู่ตลอดเวลาและควรจะมีระบบการตอบรับอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความกังวลใจของผู้ซื้อ

ก่อนที่จะประชาสัมพันธ์เว็บไซต์นั้น ควรตรวจสอบความเรียบร้อยว่า ข้อความ และรูปภาพมีความสมบูรณ์หรือไม่ ตัวสะกดผิดบางคำอาจทำให้ความหมายเปลี่ยนไป แม้แต่การเชื่อมโยงลิงค์ไปหน้าเว็บต่างๆ นั้นต้องแน่ใจว่าไม่มีลิงค์ใดเสีย ถ้ามีระบบสมาชิกก็ควรลองสมัครดูก่อน เพราะเว็บไซต์ที่ดีควรมีระบบที่ใช้งานง่าย มีความเสถียรสูง หากพบปัญหาจะได้รีบแก้ไข

เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมาพิจารณาสื่อที่ใช้ประชาสัมพันธ์แต่ละประเภท ว่ามีคุณสมบัติใดบ้าง เช่น กลุ่มสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อันประกอบด้วย อีเมล, การแจ้งผ่าน SMS, การโพสต์กระทู้ในเว็บบอร์ด หรือแม้แต่การขึ้นไปอยู่อันดับต้นๆ ในเว็บไซต์ค้นหา (http://www.google.com/) และ ป้ายโฆษณา (Banner)

สื่อเหล่านี้แม้จะเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เหมือนกัน แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน ซึ่งเจ้าของธุรกิจต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้การใช้งานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

1. อีเมล : การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์นั้นค่อนข้างจะเป็นสื่อส่วนบุคคล (Privacy) ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับผู้รับ และตรวจสอบให้แน่ใจที่สุดว่า ผู้รับนั้นจะได้รับประโยชน์จากข้อเสนอนี้ การระบุชื่อ-นามสกุล ผู้รับอย่างถูกต้องจะเป็นการให้ความสำคัญมากกว่าการบอกกล่าวตำแหน่งอย่างกว้างๆ เช่น ถึงผู้จัดการ สิ่งสำคัญคือการส่งอีเมลนั้น ควรเป็นข้อความที่สั้น กระทัดรัด ได้ใจความ น่าสนใจ หากมีข้อมูลที่ต้องการนำเสนอมาก ควรจัดทำเป็นลิงค์ให้ผู้อ่านไปดูรายละเอียดในเว็บไซต์จะดีกว่า บางธุรกิจใช้อีเมลส่งรหัสส่วนลดให้ลูกค้านำไปกรอกเมื่อซื้อสินค้าในเว็บไซต์นั้นได้ทันที

2. การส่ง SMS : เมื่อโทรศัพท์มือถือมีปริมาณมากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ และเป็นสิ่งที่ต้องพกติดตัว ทำให้การส่งข้อความสั้นเพื่อประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะผู้รับสารเปิดอ่านได้ทันที แต่เมื่ออ่านแล้วจะต้องไปเปิดอินเทอร์เน็ตดูเว็บไซต์ที่กล่าวถึง ก็จำเป็นต้องมีเหตุผลที่เร้าใจเพียงพอ เช่น สมัครสมาชิกใหม่ที่เว็บไซต์.........วันนี้ ชิงตั๋วดูภาพยนตร์ฟรี หมดเขตวันที่ ..........

3. การโพสต์กระทู้ในเว็บบอร์ด เชื่อกันว่า http://www.pantip.com/ ซึ่งมีห้องต่างๆ ให้สนทนาออนไลน์กันนั้น วันหนึ่งๆ มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนแสน ดังนั้นจึงมีทั้งการประกาศขายสินค้า และกระทู้ความคิดเห็นทั่วไป การประชาสัมพันธ์เว็บไซต์เพื่อจำหน่ายสินค้านั้น ส่วนใหญ่เขามีกติกาให้ไปประกาศในห้องที่จัดไว้สำหรับขายของโดยเฉพาะ แต่เนื่องจากห้องดังกล่าวมักมีคนเข้าน้อยกว่าห้องที่แสดงกระทู้ทั่วไป หลายธุรกิจจึงมักใช้วิธีร่วมแสดงความคิดเห็นแล้วค่อยโยงประเด็น ไปยังเว็บไซต์ของตน วิธีนี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผล เพราะคนที่มาโพสต์ กระทู้นั้นกำลังต้องการความคิดเห็น เปรียบเทียบเรื่องราคาของสินค้าอยู่แล้ว ข้อเสียคือ ถ้าทำไม่แนบเนียน เจ้าของเว็บจับได้ไล่ทันก็จะทำการลบกระทู้นั้นออก!

4. การทำเว็บไซต์ให้ขึ้นอันดับต้นๆ ของเว็บค้นหา หรือที่เรียกว่า Search Engine Optimization (SEO) หลักการเบื้องต้นของวิธีการนี้คือ ต้องรู้ “คำค้นหา” (Key Word) เสียก่อนว่า เวลาที่ลูกค้าจะค้นหาสินค้าของเรานั้น จะใช้คำว่าอะไร เช่น ถ้าขายปลาทู เมื่อลูกค้าต้องการซื้อปลาทูก็จะพิมพ์คำว่า “ปลาทู” ลงไปในเว็บไซต์ค้นหา Google.com ดังนั้นข้อมูลที่จัดทำเว็บไซต์ ก็ควรจะมีวลีคำว่า “ปลาทู” อยู่ในตำแหน่งต่างๆ (แม้แต่ชื่อไฟล์ภาพ) ให้มากที่สุด แต่ต้องเป็นประโยคที่อ่านแล้วเข้าใจ เพราะในกรณีที่เข้าไปแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ จะทำให้ผู้ค้นหากลับไปค้นคำเดิมในเว็บ Google.com ใหม่ ถ้าปล่อยสถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป ระบบของ Google.com ก็จะมีการปรับตำแหน่งเว็บไซต์ที่จัดอันดับใหม่ และอาจทำให้เว็บไซต์ปลาทูของเราตกไปอยู่อันดับล่างๆ บางเว็บไซต์จึงต้องมีลิงค์ไปยังเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะให้ผู้ค้นหาไม่ต้องกลับไปเริ่มต้นที่ Google.com ใหม่ การแลกลิงค์ก็มีผลดี เพราะหากมีเว็บไซต์อื่นๆ ลิงค์มาหาเว็บของเรามากๆ ก็แสดงว่าเป็นเว็บที่ได้รับการยอมรับ อันดับของเราใน Google.com ก็จะอยู่ต้นๆ ไปด้วย

5. ป้ายโฆษณา Banner เป็นอีกวิธีที่จะช่วยประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ สมัยก่อนใช้วิธีการแลกลิงค์ระหว่างเว็บฯ ช่วยกันหาลูกค้าร่วมกัน เช่นเว็บไซต์ขายสุนัข แลกลิงค์กับเว็บขายอาหารสุนัข เป็นต้น แต่สมัยนี้ หากจะโฆษณาในเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก อาจต้องซื้อตำแหน่งสำหรับวางป้ายโฆษณา ลักษณะการจ่ายเงินก็มีทั้งแบบเหมาจ่ายเป็นรายเดือน กับคิดตามจำนวนที่มีผู้คลิกเข้าไปเยี่ยมชม
อย่างไรก็ตาม สื่อภายนอกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ก็ยังเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมของคนส่วนใหญ่ ดังนั้น ควรหาช่องทางที่จะใช้สื่อเหล่านี้ ช่วยประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ด้วย
ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) มีข้อจำกัดเรื่องทุนในการซื้อพื้นที่ประชาสัมพันธ์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือเวลาในการออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ดังนั้น ควรต้องสร้าง “เรื่องราว” (Story) ให้เกิดความน่าสนใจ เช่น แต่งชุดมนุษย์แมงมุมไปส่งแก๊ส, การนำเนื้อปลาฉลามมาทำปลาร้าทรงฟุตบอลเพื่อรับเทศกาลฟุตบอลโลก, การสร้างนวัตกรรม, การผลิตสินค้าที่ตอบรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม , ผลิตภัณฑ์สำหรับลดโลกร้อน เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่ “สื่อมวลชน” ให้ความสนใจอยู่แล้ว และยินดีจะเผยแพร่ข้อมูลไปสู่สาธารณชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย...
การคัดเลือกสินค้ามาจำหน่าย จึงถือเป็น “กุญแจสำคัญ” ในการไขประตูความสำเร็จของธุรกิจ!?! เพราะหากสินค้านั้น ไม่สามารถหาจุดขายมาบรรยายให้คนเกิดความน่าสนใจได้ ก็ยากที่จะหาเรื่องมาเขียนข่าว ทำประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักได้

เมื่อไม่มีใครรู้จัก
ทำเว็บไซต์ไปก็ขายของไม่ได้อยู่ดี!!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น