วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

สัมมนา ขายข้ามเมฆ

การเริ่มต้นทำธุรกิจ นั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ "ข้อมูล" ที่ได้จากการสังเกตุ, การสอบถาม, การวิจัย และการศึกษาหาความรู้ ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อหดหาย การส่งออกชะงักงัน กำลังกลายเป็นปัญหาให้หลายธุรกิจต้องปลดคนงาน และคาดกันว่าในปี พ.ศ. 2552 นี้ ประเทศไทยจะมีคนตกงานกว่า 250,000 คน

คนตกงานบางคนไม่รอให้ใครมากำหนดโชคชะตาตนเองต่อไป ต้องสร้างกิจการของตัวเองขึ้น การลองผิดลองถูกโดยใช้เงินลงทุนนั้น เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ โดยเฉพาะข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เจ้าของกิจการต้องรอบคอบ และหาข้อมูลให้มากเพียงพอจนมั่นใจเสียก่อน จะใช้เงินลงทุน!

การสัมมนา "ขายข้ามเมฆ" เป็นงานสัมนาที่เกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการขายสินค้า, การจัดโปรโมชั่นจากธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ระดับแผงลอย , ร้านค้าในศูนย์การค้า ไปจนกระทั่งถึงเว็บไซต์ต่างๆ ว่าเขามีเทคนิคและวิธีการอย่างไรในการดึงคนให้เข้ามาใช้บริการในช่วงวิกฤติแบบนี้ ดังนั้นงานสัมมนาครั้งนี้จึงไม่เพียงเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจเท่านั้น แต่ผู้ที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว และกำลังประสบปัญหาก็สามารถเข้ามาหาทางออก ศึกษาแนวคิด แล้วนำไปพัฒนาต่อยอดกิจการของตนเองให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้

นอกจากนั้น ในงานสัมมนาครั้งนี้ สิทธิเดช ลีมัคเดช ผู้บรรยาย และผู้เขียนหนังสือ "คิดได้ขายเป็นบนโลกออนไลน์" ยังจะได้นำประสบการณ์การทำธุรกิจของตนเองตั้งแต่ขายกล้วยตาก, ผลิตเสื้อ, ขายเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ มาเปิดเผยอย่างหมดเปลือกว่า จะหา"โอกาส" ใน"วิกฤติ" ได้อย่างไร !!??

งานสัมมนา "ขายข้ามเมฆ" จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน 2552 เวลา 13.00-16.00 น. ที่ซีเอ็ด เลิร์นนิ่ง เซ็นเตอร์ ชั้น 2 จตุรัสจามจุรี (สถานีรถไฟฟ้าสามย่าน) รับผู้เข้าฟังเพียง 60 ท่านเท่านั้น ค่าใช้จ่ายท่านละ 300 บาท พร้อมรับพ๊อคเก๊ตบุค "เมื่อ SMEs จะมีเว็บไซต์" และซีดี ความรู้เรื่องการตลาด ท่านละ 1 ชุดฟรี สนใจสำรองที่นั่งได้ที่ โทร 02-657-6003

วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดย สิทธิเดช ลีมัคเดช

หลังจากสอนวิชาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตามโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ NEC รุ่นที่ 4 ของมหาวิทยาลัยบูรพา เสร็จเรียบร้อยในวันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552 ผมได้ขอให้ทีมงานจัดส่งใบประเมินของผู้เข้าอบรม เพื่อจะได้รับทราบว่า ผลการสอนเป็นอย่างไร ต้องแก้ไขปรับปรุงส่วนใด ปรากฏว่าผู้เข้าอบรมฯ ส่วนใหญ่มักขอให้สอนเพิ่มเติม เนื่องจากเนื้อหามีรายละเอียดมาก แต่เวลาน้อยเกินไป ผมขอชมว่ารุ่นนี้เป็น ทีมที่มีความกระตือรือล้น ส่งการบ้านกันมากกว่าทุกรุ่นที่ผ่านมา...

ผมไม่รู้ว่าจะมีโอกาสกลับไปสอนเพิ่มเติมพวกเขาหรือไม่ แต่สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ สรุปเนื้อหาของวิชาที่บรรยายไว้แบ่งแยกเป็น 8 ตอนให้พวกเขาศึกษา เก็บไว้ ทบทวน หวังว่าพวกเขาคงมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์ของบทความชุดนี้ ไปพร้อมกับ ผู้เข้าอบรมโครงการ NEC รุ่นก่อนหน้า หรือรุ่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ....และไม่ว่าท่านผู้อ่านท่านใด อยากจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ก็สามารถแสดงความเห็นได้ในแต่ละบทตามอัธยาศรัย เพื่อช่วยกันระดมสมอง ผลักดันให้วงการอีคอมเมิร์ชไทยก้าวหน้าไวขึ้น



บทที่ 1 ความเปลี่ยนแปลง

แม้ว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยให้ธุรกิจลดต้นทุนเรื่องช่องทางการจำหน่าย ลดปัญหาเรื่องสินค้าสูญหาย และช่วยขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียง “เครื่องมืออำนวยความสะดวก” ในการทำธุรกิจเท่านั้น ไม่ใช่ “หลักประกัน” ว่าทำแล้วจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจทุกราย หลายปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ใช้แล้วล้มเหลว เสียเวลาทำกันด้วยซ้ำ!?!

ทำไม จึงเป็นเช่นนั้น!?!

พื้นฐานการค้าออนไลน์ไม่ต่างจากการขายของบนท้องถนน ถ้าเรายืนร้องเรียกคนซื้อแล้ว คนแถวนั้นไม่ซื้อไม่ใช้บริการของเรา ก็ต้อง “เปลี่ยน” (Change) วิธี..

ไอน์สไตน์ บอกว่า การทำอะไรซ้ำๆ แล้วหวังให้ผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงนั้นเป็นความคิดของคนขาดสติ ถ้าจะทำให้ผลลัพธ์แปรเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนส่วนผสม, เปลี่ยนกระบวนการ จึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงได้!!!
การขายของก็เช่นเดียวกัน

สินค้า ที่ขายไม่ได้นั้น อาจจะยังไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเท่าที่ควรจะเป็น
ถ้าไม่เปลี่ยนของก็ต้องลองเปลี่ยนราคา!!

ถ้าเปลี่ยนราคาแล้วยังขายไม่ได้ ก็แสดงว่าทำเลนั้นไม่ใช่ “กลุ่มเป้าหมาย” ของสินค้าเรา ถ้ายังไม่ยอมเปลี่ยนสินค้าใหม่มาขายแทน ก็ต้องเปลี่ยนสถานที่ เร่ไปเดินขายที่อื่น ซึ่งอาจพบกับคนที่เป็นลูกค้าของเรารออยู่ก็ได้

การค้าก็คือการจับคู่ระหว่าง ความต้องการ (ของลูกค้า) กับ “สิ่ง”ที่พวกเขาต้องการ โดยที่คนขายเป็นเหมือน “แม่สื่อ” (ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตเอง หรือผู้จัดหา) ที่จะต้องชักนำคนสองคนมาอยู่ด้วยกัน ค่าตอบแทนในการดำเนินงานครั้งนี้ก็คือ “ผลกำไร”!!

การทำอีคอมเมิร์ช จึงไม่ใช่แค่การทำเว็บไซต์!

“พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” กลืนความหมายตั้งแต่เริ่มกระบวนการค้า เสาะแสวงหาความต้องการ, หาผลิตภัณฑ์, ประชาสัมพันธ์, สร้างความต้องการ, ตอบสนองความต้องการ, สร้างร้านค้า ตลอดจนขนส่งสินค้าได้ด้วย เช่น ซอฟต์แวร์ ไปยังกลุ่มเป้าหมาย พร้อมรับชำระเงิน โดยอาศัยประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ก่อนที่จะเริ่มค้าขายบนอินเทอร์เน็ต จึงควรสำรวจความพร้อมตัวเองเสียก่อน ว่ามีศักยภาพความเป็นเถ้าแก่ออนไลน์มากน้อยเพียงไร ถ้าดูแล้วไม่มีอยู่เลย จะได้รู้จักหักใจเสียแต่ตอนต้นๆ

1. ยอมรับความเสี่ยง ? การลงทุนทำธุรกิจทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยง ไม่เหมือนกับการเป็นพนักงานประจำ พอสิ้นเดือนก็ได้รับเงินเดือน คงที่ หรือปรับขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ แต่การลงทุนค้าขาย รายได้จะไม่แน่นอนเสมอไป บางเดือนได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเดือนประจำ บางเดือนอาจขาดทุน ดังนั้นผู้ที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจจึงต้องเป็นผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงนี้ได้ การบริหารความเสี่ยงด้านการค้าส่วนหนึ่งก็คือต้องหา “รายได้” ที่เป็นหลักประจำไว้บ้าง, ใช้วิธีกระจายลงทุนในธุรกิจต่างประเภทกัน, การจัดสรรเงินออมสำหรับกรณีฉุกเฉิน หรือบางท่านอาจทำงานประจำไปด้วย โดยแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งมาลงทุนค้าขาย เริ่มจากน้อย พอได้กำไรก็ค่อยๆ ขยายการลงทุน จนธุรกิจอยู่ตัวแล้ว ค่อยลาออกจากงานประจำมาทำแบบเต็มที่ เพราะการใช้เวลาค้าขายบนโลกอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องอยู่เฝ้าร้านทั้งวัน เพียงแค่หมั่นเช็คอีเมล ตรวจสอบสถิติผู้เข้าชม และเพิ่มลดสินค้าบางประเภทเพื่อจูงใจผู้ซื้อเท่านั้น ซึ่งทำได้ทุกสถานที่ ทุกเวลาที่มีอินเทอร์เน็ต ขึ้นอยู่กับการบริหารเวลา ว่าต้องไม่ส่งผลกระทบต่องานประจำ

2. กำหนดเป้าหมาย การเริ่มต้นธุรกิจใดๆ ต้องมีการวางเป้าหมาย พร้อมกำหนดวิธีการ มีเจ้าของสินค้าบางประเภท สร้างเว็บไซต์ขายสินค้าตัวเองขึ้นมา หากดูผิวเผินก็คงเหมือนการเปิดขายสินค้าให้กับทุกคนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว เจ้าของสินค้ารายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทำเป็นแคตาล็อกให้กับผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่รายหนึ่งดูเท่านั้น แทนที่เขาจะพิมพ์แคตาล็อกเป็นกระดาษ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงและเสียเวลาในการจัดทำมาก เขาก็เพียงแต่แนะนำชื่อเว็บไซต์แล้วให้ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อคลิกเข้าไปดูบนเว็บไซต์นั้น คนซื้อก็รู้สึกว่าเจ้าของสินค้านี้ทันสมัยรู้จักใช้เทคโนโลยี ยิ่งเมื่อได้เห็นสินค้าบนเว็บไซต์ทั้งสีสันและคำบรรยาย ที่ถูกตลาดของตน ก็สั่งสินค้าล็อตใหญ่ทันที เมื่อได้รับออเดอร์นั้นแล้ว เจ้าของสินค้านั้นก็เลิกทำเว็บฯ เพราะถือว่าผลลัพท์ตรงตามเป้าหมายที่ตนกำหนดแล้ว อีกประการหนึ่งยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่าตนจะไม่ขายสินค้าแข่งกับห้างนั้น เป็นการ "เอาหน้า" ได้อีกด้วย

3. รู้จักวางกลยุทธ์ การพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ต้นทุนการเปิดร้านค้าออนไลน์นั้นต่ำมาก เฉลี่ยเดือนละ ไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น ทำให้ธุรกิจไม่ว่าขนาดใหญ่หรือเล็ก เข้ามาเปิดเว็บไซต์แข่งขันกันได้ ผู้ซื้อเองก็จะได้เห็นสินค้าผ่านจอเหมือนกัน การลงทุนเม็ดเงินจำนวนมากจึงไม่ใช่เครื่องชี้ชัดว่าจะประสบความสำเร็จ ในช่วงปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าบริษัทดอทคอมที่มีเงินทุนขนาดใหญ่ ล้มหายตายจากวงการไปเป็นจำนวนมาก ที่มีอยู่ก็ต้องปรับกลยุทธ์ ศึกษาสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่หลับหูหลับตาทุ่มเงินเพียงอย่างเดียว ผู้ที่จะค้าขายออนไลน์จึงควรเริ่มต้น คิดค้นกลยุทธ์ทางการตลาดว่าจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของตนอย่างไร จะหาสินค้าประเภทใดที่มีความแปลกใหม่ ตรงใจและได้กำไรสูงสุด โดยเสียค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดอย่างไร หากท่านจำกรณี "ปลาทูออนไลน์" ที่เป็นข่าวโด่งดังตามสื่อต่างๆ เมื่อหลายปีมาแล้ว ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือวิทยุต่างประโคมข่าว ความน่าสนใจในการเลือกสินค้านี้มาขายบนเว็บไซต์อย่างมาก เมื่อประเมินค่าใช้จ่ายเพื่อทำสื่อประชาสัมพันธ์สินค้านี้แล้ว ต้องไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า เจ้าของเว็บไซต์ ไม่ต้องควักเงินตนเองจ่ายสักบาท แถมยังได้ค่าตัวจากการเป็นนายแบบโฆษณาสินค้าคอมพิวเตอร์ยี่ห้อหนึ่งอีกเกือบสองหมื่นบาท ติดปลายนวมด้วย

4. ประเมินความสามารถของตน คนที่เริ่มต้นค้าขายออนไลน์นั้น มักจะสอบถามอยู่เสมอว่า "สินค้า" อะไรที่ขายดีในอินเทอร์เน็ต การได้ข้อมูลเหล่านี้ ควรนำไป "ต่อยอด" และปรับให้เข้ากับ “จุดแข็ง” ของตนเอง ที่สำคัญต้องรู้ศักยภาพของตนเอง ไม่ใช่พอรู้ว่า "อัญมณี" ขายดี เพราะเว็บไซต์ ไทยเจมส์ สร้างรายได้ เดือนละหลายสิบล้านบนเว็บ แล้วอยากขาย "เพชร" แข่งบ้าง โดยที่ตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูอัญมณี แบบนี้ก็คงยากที่จะประสบความสำเร็จ หรือแม้แต่ "ดอกไม้" ที่เห็น "มิสลิลลี่" ขายดิบขายดี แล้วอยากจะขายดอกไม้ในอินเทอร์เน็ตบ้าง โดยที่ตนเองเป็นคนแพ้เกสรดอกไม้ แบบนี้ก็รุ่งยาก ที่สำคัญ ต้องยอมรับว่า การขายของบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น ส่วนใหญ่จะได้คำสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ แต่ตนเองไม่เก่งภาษาอังกฤษเลย หาผู้ช่วยก็ไม่ได้ แถมยังไม่ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมอีก แบบนี้ต้องล้มความคิดที่จะ "โกอินเตอร์"
สิ่งที่คนค้าขายไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือค้าบนดิน ต้องมีไว้ประจำตัวก็คือเรื่อง "ความรับผิดชอบ" ถ้าไม่รับผิดชอบ ลูกค้าก็จะซื้อของกับท่านเพียงครั้งเดียวแล้วก็จะ "เข็ด" ผู้ค้าบางรายที่ให้บริการลูกค้าดี ลูกค้าเกิดความประทับใจ ก็จะบอกต่อๆ กัน ซึ่งได้ผลมากกว่าการที่ท่านต้องเสียเงินจ้างคนโฆษณามาบอกว่าท่าน "ดี" อีกด้วย

ดังนั้น ต้องประเมินความสามารถของตนเองเสียก่อน ทุกคนมี "จุดดี" และ "จุดด้อย" ต้อง"วิเคราะห์" ให้ได้ว่าตนควรทำอะไร ? ถ้ามีความสามารถในการผลิตสินค้า เพราะมีความพร้อมด้านโรงงาน, วัตถุดิบ ก็ควรมุ่งพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดีที่สุด หากยังไม่เก่งการตลาด ก็ค่อยไปหาความรู้เพิ่มเติมมาลบ "จุดด้อย" ของตน
บนโลกอินเทอร์เน็ต นอกจากจะเป็นตลาดค้าขายสินค้าแล้ว ยังเป็น ห้องสมุดขนาดใหญ่ให้ ผู้ประกอบการธุรกิจได้ศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา

ก่อนจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ก็ต้องเริ่มสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเอง เสียก่อน...

บทที่ 2 เว็บไซต์


บทที่ 2 เว็บไซต์

การเริ่มต้นธุรกิจนั้น มี 5 ปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ

1. สินค้าหรือบริการที่จะขาย

2. ทุน

3.กลุ่มเป้าหมาย

4. คู่แข่ง และ

5. กลยุทธ์การตลาด

ถ้าเจ้าของธุรกิจวางแผนจัดการทั้ง 5 ธาตุ(Fifth Element) ได้อย่างรัดกุม โอกาสที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จก็มีอยู่สูง ลองดูกรณีศึกษา การขายโปรแกรมระบบเว็บไซต์สำเร็จรูป ปลาทูออนไลน์


1. สินค้าหรือบริการที่จะขาย เป็นชุดโปรแกรมทำเว็บไซต์ สำเร็จรูป สำหรับผู้สนใจเรียนรู้เรื่องอีคอมเมิร์ช ประกอบด้วยหนังสือ, ซีดีรอม และUser Name – Password เพื่อให้ผู้ซื้อนำไปสร้างเว็บไซต์ได้ด้วยตนเอง

2. ทุน แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

2.1. โปรแกรมเว็บไซต์สำเร็จรูป โดย บริษัท เวโลคอล จำกัด เป็นผู้ดูแลระบบ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านโปรแกรม, พื้นที่ และการออกแบบเว็บไซต์
2.2. ซีดีรอม+กล่อง+หนังสือ โดย บริษัท วัฏฏะ จำกัด รับผิดชอบค่าผลิตและดูแลงานด้านจัดจำหน่าย ผ่านช่องทางร้านขายหนังสือทั่วไป
2.3 ชั่วโมงการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต โดย ศูนย์การค้าไอทีมอลล์ รับผิดชอบเรื่องค่าเช่าพื้นที่ , อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และค่าชั่วโมงอินเทอร์เน็ต

จะเห็นได้ว่าการผลิตสินค้าชิ้นนี้ ไม่จำเป็นที่บริษัทฯ ใดบริษัทหนึ่งต้องลงทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เมื่อแตกองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ออกมา เราสามารถหาพันธมิตรมาร่วมลงขัน และอาศัยจุดแข็งของทุกฝ่ายช่วยกันได้ โดยวิธีนี้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด เช่นเดียวกับ บริษัท แอปเปิ้ล ต้องการขายโทรศัพท์มือถือ ไอโฟน ในราคา 199 เหรียญ แต่ปรากฏว่าต้นทุนผลิตสูงถึง 200 เหรียญแล้ว จึงไปคุยกับเอทีแอนด์ที จนได้รับเงินสนับสนุนมาอีกเครื่องละ 200 เหรียญ!

3. กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วยผู้ที่จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว, ผู้ประกอบการธุรกิจที่ต้องการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นช่องทางเพื่อขยายกิจการ

4. คู่แข่ง ในขณะนั้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทผู้ให้บริการเว็บไซต์ แต่ยังไม่มีคู่มือการเรียนรู้ประเภทนี้ออกมาจำหน่ายโดยตรง มักใช้การเปิดอบรมสอนขั้นตอนการสร้างเว็บไซต์มากกว่า ข้อได้เปรียบแรกคือผลิตภัณฑ์นี้ถือเป็นผู้บุกเบิกตลาดสื่อการเรียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ข้อได้เปรียบถัดมา เมื่อเทียบราคากับการเข้าร่วมอบรมของบริษัทคู่แข่งแล้ว ผู้ซื้อเสียค่าใช้จ่ายในราคาที่ต่ำกว่า

5. กลยุทธ์การตลาด แม้ว่าจะมีสินค้าหรือบริการที่ดีเยี่ยมเพียงไร หากขาดการส่งเสริมด้านการตลาดแล้ว ก็จะทำให้สินค้านั้นไม่เป็นที่รู้จัก การออกแบบกิจกรรมการตลาดจึงควรคิดให้ครบตั้งแต่ช่วงก่อนผลิตภัณฑ์วางตลาด, ช่วงที่ผลิตภัณฑ์วางตลาด และช่วงระหว่างที่ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ไปใช้แล้ว เบื้องต้น การได้ บริษัท วัฏฏะ จำกัด ซึ่งมีจุดแข็งด้านการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนด้วยนั้น ทำให้มีโอกาสระดมสมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยต้องการให้สินค้านี้มีความแตกต่างจากหนังสือคู่มือทั่วไป ที่คนซื้อไปแค่อ่านเท่านั้น แต่สินค้านี้จะมีซีดีรอมช่วยสาธิตขั้นตอนการสร้างอย่างเป็นระบบพร้อมเสียงบรรยาย เมื่อเข้าใจแล้วก็ใช้บัตรสมาชิกของศูนย์การค้าไอทีมอลล์ ฟอร์จูนทาวน์ (แนบไปในกล่องสินค้าด้วย) ไปใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต(ฟรี) เปิดเว็บไซต์ออนไลน์ได้ 2 เดือนทันที ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ซื้อได้เรียนรู้ด้วยตนเองครบทุกขั้นตอน

นอกจากนั้น บรรจุภัณฑ์ก็เป็นสิ่งสำคัญ ตั้งแต่การออกแบบปก ต้องดึงดูดความสนใจ เพราะเป็นจุดแรกที่ลูกค้าเห็น ต้องมีภาพประกอบที่น่าสนใจ ข้อความเชิญชวนด้วยประโยคท้าทายความรู้สึกว่า “ปลาทูไทยออนไลน์ ขายไปแล้วทั่วโลก ....แล้วสินค้าของคุณ ยังจะรออะไรอยู่ ?” โดยอาศัยสถานการณ์ช่วงที่พ่อค้ารายหนึ่งประสบความสำเร็จในการขายปลาทูผ่านระบบออนไลน์ของ เวโลคอล เป็นจุดขาย ในด้านการประชาสัมพันธ์ข่าว ด้วย บริษัท วัฏฏะ จำกัด เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ และมีนิตยสารในเครือมากมาย จึงใช้พื้นที่ในสื่อเหล่านี้ช่วยประโคมโฆษณาผลิตภัณฑ์ชุดนี้ ทำให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ก่อน เมื่อผลิตภัณฑ์วางตลาด ก็มีผู้ที่ทราบข่าวก่อนหน้านี้ หยิบสินค้าแล้วชำระเงินได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาพิจารณาหรือพลิกอ่านเนื้อหาในร้านก่อน..

“ช่องทางการจัดจำหน่าย” นอกจากจะวางขายในร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปแล้ว ยังมีการขายผ่านเว็บไซต์ และนำเสนอขายควบไปกับการจัดอบรมให้กับองค์กรที่สนใจเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยช่วงนั้นกระแสดอทคอมกำลังบูมจึงทำให้ผลิตภัณฑ์ชุดนี้ ได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม ใช้เวลาไม่นาน ก็ระบายสต๊อกสินค้าออกได้หมด!!?!

กรณีศึกษานี้ ชี้ให้เห็นว่า การทำธุรกิจนั้นมีองค์ประกอบมากมาย ก่อนเริ่มต้นจึงควรวิเคราะห์ปัจจัยที่จำเป็นเสียก่อนว่า ทำไมจึงคิดที่จะขายสินค้าประเภทนี้ จะต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่, ทุนนี้มาจากไหน, สินค้านั้นตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หรือไม่!?, สถานการณ์ของคู่แข่งขัน (หรือสินค้าทดแทน) เป็นอย่างไร ตลอดจนวิธีการที่จะทำให้ลูกค้ารู้จักสินค้าและตัดสินใจซื้อ

ทำไมจึงต้องทำเว็บไซต์ขายของ!?!
ชุดโปรแกรมเว็บไซต์สำเร็จรูป ปลาทูออนไลน์ ที่แม้ว่าจะมีช่องทางการจัดจำหน่ายตามร้านหนังสือแล้ว แต่ข้อจำกัดประการหนึ่งคือ ภายในร้านหนังสือมีขนาดพื้นที่จำกัด แต่ละวันจะมีหนังสือใหม่เข้ามาขายตลอดเวลา พื้นที่ในตำแหน่งสายตาลูกค้า มักต้องถูกสับเปลี่ยนหมุนเวียน และภายใน 2 สัปดาห์ ถ้าสินค้านั้นขายไม่ได้ ร้านไม่มีพื้นที่เก็บก็ต้องถูกส่งกลับไปโกดังกระจายสินค้า หรือส่งคืนกลับโรงพิมพ์ไปแล้ว หากช่วงนั้นมี ลูกค้าที่ต้องการสินค้ามาถึง ก็จะเสียโอกาสการขายไป....

“ร้านค้าออนไลน์” เข้ามาแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ มีขนาดพื้นที่ขายสินค้ามาก แถมเปิดขายตลอดเวลา คนซื้อไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาที่ร้าน ต่ออินเทอร์เน็ตเสร็จสั่งซื้อจากบ้านได้เลย
อย่างไรก็ตาม ร้านค้าออนไลน์ หรือ “เว็บไซต์” ก็ไม่ต่างจากร้านค้าทั่วไปที่จำเป็นต้องมีพื้นที่ ต้องมีที่อยู่และต้องตกแต่งหน้าร้านให้ผู้เข้าเยี่ยมชมอยากซื้อสินค้า...

เว็บไซต์ มีองค์ประกอบสำคัญดังนี้

1. พื้นที่ (Hosting) สำหรับแสดงข้อมูลและรูปภาพของสินค้า มีทั้งผู้ให้บริการเว็บฟรี แต่แลกด้วยการโฆษณาแบนเนอร์ หรือแบบเสียค่าใช้จ่าย ส่วนราคาขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ และระบบที่ต้องการ มีตั้งแต่หลักร้อยต่อเดือนขึ้นไป

2. โดเมนเนม (Domain Name) ที่อยู่ของเว็บไซต์นั้น ควรกำหนดชื่อที่จำได้ง่าย สะกดผิดยาก และถ้าสื่อถึงธุรกิจได้ จะดีมาก โดเมนเนมถือเป็นทรัพย์สินที่ ซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ เคยมีการขายชื่อโดเมนเนม http://www.business.com/ ได้สูงถึง 75 ล้านเหรียญ! ทุกวันนี้ก็ยังมีคนจดจองชื่อโดเมนเนมดีๆ ไว้ขายต่อ!

3. ระบบและการออกแบบเว็บเพจ (System & Template) ควรออกแบบให้ใช้งานง่าย สิ่งสำคัญคือ “ความเร็ว” ในการโหลดดูข้อมูล แต่ละหน้าไม่ควรเกิน 8 วินาที การออกแบบที่ดีของเว็บไซต์จะช่วยทำให้ขึ้นอันดับต้นๆ ของเว็บค้นหาด้วย

การทำเว็บไซต์ เจ้าของธุรกิจ สามารถเลือกได้ 3 วิธีคือ

1. จ้างผู้อื่นจัดทำ วิธีนี้ เปรียบไปแล้วก็เหมือนการจ้างช่างตัดเย็บเสื้อผ้า อยากได้เว็บไซต์แบบไหน ก็บอกเขาไป เขาก็จะออกแบบหน้าตาเว็บเพจ (หน้าเว็บไซต์แต่ละหน้า) และระบบให้ตรงตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง แน่นอนว่า วิธีการนี้จะต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าวิธีอื่นๆ ถ้าต้องการปรับปรุงหรือแก้ไขข้อมูลในอนาคต ค่าใช้จ่ายก็จะบานปลายออกไป แม้ว่า ค่าจ้างทำเว็บไซต์ในขณะนี้ จะลดลงมากแล้ว แต่อย่ายึดหลัก “ราคาถูก” เพียงอย่างเดียว ขอให้สอบถามข้อมูล ผลงานจากลูกค้าเก่าของเขา มาประกอบการพิจารณาจ้างด้วย

2. ทำเว็บด้วยตนเอง วิธีนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีความสนใจเรื่องคอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรมต่างๆ ซึ่งมีให้เลือกดาวน์โหลดมากมายในอินเทอร์เน็ต วิธีนี้แม้มีค่าใช้จ่ายต่ำแต่ก็ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนเพื่อเรียนรู้มาก

3. การใช้โปรแกรมเว็บไซต์สำเร็จรูป การใช้วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่ไม่มีพื้นฐานด้านภาษาคอมพิวเตอร์ เพราะจะมีโปรแกรมเมอร์กลุ่มหนึ่งพัฒนาระบบ ออกแบบเทมเพลตสำหรับ สร้างเว็บไซต์ ไว้แล้ว เหลือเพียงให้เจ้าของธุรกิจกรอกข้อมูล สินค้าที่ต้องการแล้วส่งคำสั่ง ระบบก็จะแปลงเป็นหน้าเว็บเพจออนไลน์ได้ทันที ข้อดีของวิธีนี้คือมีค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไป, แก้ไข เพิ่มเติมข้อมูลได้ด้วยตนเอง แต่มีข้อจำกัดเรื่องการออกแบบ ซึ่งจะไปซ้ำกับเว็บอื่นๆ ที่ใช้บริการบริษัทเดียวกัน เข้าทำนองซื้อเสื้อโหล

การจะเลือกสร้างเว็บไซต์ด้วยวิธีใด ต้องคำนึงถึงลักษณะของธุรกิจ, งบประมาณ, ความสะดวกในการจัดทำ หากเป็นบริษัทรับทำโฆษณา จำเป็นต้องสร้างอัตตาลักษณ์เฉพาะ ก็ต้องใช้วิธีจ้างมืออาชีพออกแบบ เพราะถ้าใช้เว็บไซต์สำเร็จรูป คะแนนความคิดสร้างสรรในสายตาของลูกค้าก็จะลดลงโดยปริยาย
แต่สำหรับผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ และขายสินค้าทั่วไปนั้น สามารถใช้เว็บไซต์สำเร็จรูปได้ เพราะสะดวกในการจัดทำ หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลอย่างรวดเร็ว แล้วเอาเวลาที่เหลือไปบริหารงานขาย จัดกิจกรรมการตลาดจะเหมาะกว่า

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดในการจัดทำเว็บไซต์ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องให้ความสนใจในลำดับถัดมา ก็คือเรื่องของข้อมูล และภาพประกอบในเว็บไซต์ ที่ต้องดึงดูดใจ สร้างความเชื่อมั่น อ่านแล้ว อยากได้สินค้า

ขั้นตอนนี้เทียบได้กับการจัดหน้าร้านขายของตามช่องทางปกติ ทั้งเรื่องข้อความ, ตัวอักษร, การจัดโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม และการจัดระเบียบสินค้าให้ลูกค้าหาสิ่งที่ต้องการได้ง่าย!
การขายสินค้าบนอินเทอร์เน็ต ไม่มีข้อจำกัดเรื่องปริมาณสินค้า เหมือนการเช่าร้านในห้างสรรพสินค้าซึ่งถูกบังคับด้วยขนาดพื้นที่ และต้องมีบริเวณทางเดินสำหรับลูกค้าเลือกซื้อสินค้าไว้ด้วย ผู้ขายออนไลน์ สามารถทดลองนำสินค้าที่คาดว่าจะขายได้ มาจัดทำเป็นข้อมูลลงประกาศในเว็บได้เป็นพันๆ ชนิด โดยไม่จำเป็นต้องมีสต๊อก ดังนั้น จึงต้องมีการจัดหมวดหมู่ให้ลูกค้าค้นหาง่าย เช่น หากจะขายหนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ก็ต้องออกแบบผังเว็บไซต์ แบ่งเป็นกลุ่มๆ ว่าผู้ซื้อ สะดวกในการค้นหาข้อมูลแบบใด แบ่งเป็นทวีป, ชื่อประเทศ, สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ บางธุรกิจที่มีสินค้าเป็นจำนวนมากต้องลงทุนทำระบบค้นหาในเว็บไซต์ตนเอง (Search Engine) ด้วย

กลุ่มข้อมูลที่เตรียมจัดทำบนเว็บไซต์นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มหลักๆ คือ

1. ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ต้องอธิบายคุณลักษณะของสินค้าให้ชัดเจน หากเป็นกรอบรูปก็ต้องบอกถึงวัตถุที่ผลิต, ขนาดของสินค้า ถ้าเป็นหนังสือก็ต้องมีเนื้อหาบางส่วนที่กระตุ้นให้ผู้อ่านอยากติดตาม, สำหรับ สินค้าอาหารเป็นเรื่องยากที่จะบรรยายรสชาติ ผู้จัดทำเว็บไซต์ ก็สามารถนำเสนอข้อมูลประโยชน์ทางด้านโภชนาการแทนได้ อย่างไรก็ตามการอธิบายคุณสมบัติของสินค้า ควรมีจุดแข็ง และ “คุณค่า” ที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกถึงความคุ้มค่า เมื่อพวกเขาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นี้ อย่างกรณี ชุดปลาทูออนไลน์ ซึ่งมีทั้งซีดีรอม หนังสือ และบริการเว็บไซต์สำเร็จรูป เป็นการเรียนรู้แบบครบวงจร เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเดินทางไปอบรมแล้วผู้ซื้อ รู้สึกคุ้มค่ากว่า เพราะเปิดเรียนเวลาไหนก็ได้ ไม่เข้าใจก็ศึกษาทบทวนได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

2. ข้อมูลที่สร้างความน่าเชื่อถือ อาทิ ประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งกิจการ, ความเชี่ยวชาญพิเศษ หรือระดับการศึกษาของเจ้าของธุรกิจ ถ้าขายสินค้าอาหาร แล้วเจ้าของเว็บฯ จบด้านโภชนาการมา ก็จะทำให้ผู้อ่านเกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น, การได้รับรางวัลจากการแข่งขันประกวด ก็มีส่วนสำคัญที่ในการเพิ่มมูลค่าความน่าเชื่อถือ หรือคำยืนยันจากผู้ที่เคยใช้สินค้านั้นมาแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของกลุ่มเป้าหมาย ถ้าออกปากชื่นชมผลิตภัณฑ์นั้น ก็จะช่วยทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น
การใช้ใบจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งจะช่วยให้ลูกค้ามั่นใจในตัวตนของผู้ประกอบการ และยิ่งมีสถานที่ประกอบการเป็นหลักแหล่ง มีแผนที่บริษัท แสดงความรับผิดชอบในกรณีที่ซื้อสินค้าไปแล้วเกิดปัญหา อย่างชัดเจน ก็จะช่วยให้ลูกค้าคลายความกังวลใจในการซื้อสินค้ามากขึ้น

3. ข้อเสนอพิเศษ กลุ่มข้อความนี้จะเป็นการตอบคำถามว่า “ทำไมจึงต้องซื้อหรือใช้บริการจากเว็บไซต์” เช่น การให้ส่วนลด มีของแถม ผลิตจำนวนจำกัด มีขายเฉพาะที่นี่ที่เดียว กลุ่มข้อความนี้จะเป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้ลูกค้ารีบตัดสินใจซื้อ ดังนั้นจึงต้องกำหนดระยะเวลาการให้ข้อเสนอพิเศษนี้เสมอ และเมื่อครบวันดังกล่าว ก็อย่าลืมลบข้อความที่หมดอายุออกจากเว็บไซต์ด้วย การให้ข้อเสนอพิเศษนี้ เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งช่วยให้เว็บไซต์มีสีสันมากขึ้น

4. นโยบายการค้า เมื่อลูกค้าอ่านข้อความบรรยายประโยชน์สินค้า และรับรู้ข้อเสนอต่างๆ แล้ว สิ่งที่เขาจะคำนึงถึงต่อไปคือเรื่องวิธีการชำระเงิน การจัดส่ง และการรับประกันสินค้า ดังนั้น กลุ่มข้อความนี้จะต้องอธิบายวิธีการชำระเงินและส่งมอบสินค้า หากเป็นการโอนเงินธนาคาร ก็ควรมีบัญชีสำหรับโอนไว้หลายธนาคารเป็นทางเลือกเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า หรือกรณีจัดส่งสินค้าที่เป็น พ.ก.ง.เก็บเงินปลายทางหรือด่วนพิเศษ ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มก็ต้องระบุให้ลูกค้าทราบอย่างชัดเจน รวมถึงในกรณีที่ลูกค้ารับสินค้าไปแล้วเกิดความไม่พอใจ หรือใช้ไปแล้วเกิดความเสียหาย ผู้ขายก็ต้องมีเงื่อนไขสัญญาที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เช่น รับประกันหากไม่พอใจสินค้า สามารถเปลี่ยนคืนได้ภายใน 7 วัน นับจากวันที่รับสินค้า (โดยยึดตราไปรษณีย์เป็นหลัก)

นอกจากข้อมูลที่เป็นกลุ่มตัวอักษรแล้ว “ภาพ” ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้านั้นหรือไม่ มีคำกล่าวว่า “1 ภาพมีน้ำหนักกว่า 1,000 คำพูด” ดังนั้น การถ่ายภาพสินค้าจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องของความเด่นชัดของผลิตภัณฑ์ ฉากหลัง แสงเงา สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการสร้างความรู้สึกให้กับผู้พบเห็น

ภาพสินค้าที่ดีบอกขนาดได้ โดยการเปรียบเทียบกับเงินเหรียญ หรือไม้บรรทัด

ภาพที่ดีควรมีคุณค่า เช่น หากต้องการขายโต๊ะคอมพิวเตอร์ ถ้าจัดองค์ประกอบให้มีเครื่องโน๊ตบุ๊คราคาแพงตั้งอยู่ด้วย จะช่วยให้ผู้ซื้อรู้สึกว่า เฟอร์นิเจอร์ชุดนี้มีคุณค่าเพิ่มขึ้น หากเกรงคนซื้อจะสับสนว่าขายอะไรกันแน่ ก็ให้ระบุคำบรรยายใต้ภาพได้ว่า ไม่รวมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์

ภาพที่ดีควรมีชีวิตชีวา หากเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดผิวหน้า การถ่ายภาพสินค้าคู่กับใบหน้าหญิงสาวน่ารัก จะให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์เดี่ยวๆ เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามการตกแต่งภาพให้มีชีวิตชีวานั้น ต้องระมัดระวังมิให้องค์ประกอบเหล่านั้นแสดงจุดเด่นมากจนกลบทับความสำคัญของผลิตภัณฑ์ไป

ภาพที่ดีควรแสดงวิธีใช้ การถ่ายภาพสินค้าเพียงอย่างเดียว แม้ว่าจะมีการตกแต่งแสงเงาให้ดูสวยงาม แต่บางครั้งหากไม่อ่านข้อความก็ดูไม่ออกเหมือนกันว่าเป็นสินค้าอะไร เช่น ที่คาดผม ดังนั้น หากมีภาพผลิตภัณฑ์เดี่ยวแล้วก็ควรเพิ่มภาพผลิตภัณฑ์ในขณะถูกใช้งานด้วย ว่ามีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง การแสดงภาพสินค้าขณะถูกใช้จึงเป็นการแสดง “ประโยชน์” ของผลิตภัณฑ์ทางอ้อมด้วย

เมื่อได้ข้อมูลและภาพตามวัตถุประสงค์ทั้งหมดแล้วก็ถึงเวลาจัดทำเว็บไซต์ ในกรณีที่จ้างผู้อื่นจัดทำให้นั้น ต้องคุยเงื่อนไขให้ละเอียดว่าจะทำให้เป็นจำนวนกี่หน้า สามารถแก้ไขงานได้กี่ครั้ง การคุยเบื้องต้นนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ที่สำคัญควรขอประวัติการทำงานของบริษัทฯ ว่า เคยให้บริการกับลูกค้ารายใดบ้าง เพื่อดูผลงานในอดีตของเขา ควรโทรศัพท์สอบถามลูกค้ารายนั้น ถึงบริการหลังการขายด้วยว่าดีหรือไม่ ?!

นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายในการจัดทำเว็บไซต์ ยังขึ้นอยู่กับความต้องการของระบบ เช่น ระบบชำระเงินผ่านบัตรเครดิต, เว็บบอร์ด, ค้นหาสินค้า หรือสมาชิก เพราะระบบยิ่งมากก็หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ผู้ว่าจ้างจึงต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการทำเว็บไซต์ให้แน่ชัดเสียก่อนว่าจัดทำเพื่อประโยชน์อะไร ? จะได้ไม่เสียเงินไปพัฒนาระบบที่ไม่เกี่ยวข้อง การจ้างทำเว็บไซต์นั้นควรจะได้มีข้อตกลงเรื่องระยะเวลาในการส่งมอบงานและการชำระเงิน โดยต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร

เคยมีธุรกิจรับล้างรถ จ้างคนอื่นทำเว็บไซต์ให้ เวลาที่แก้ไขหรือเสนองานก็มาทำที่บริษัทของผู้ว่าจ้าง แต่ภายหลังงานเกิดมีปัญหา ผู้รับจ้างหายหน้าไป โทรศัพท์ติดต่อไปก็ไม่รับสาย ผู้ว่าจ้างก็ไม่รู้จะไปตามที่ไหน เพราะไม่เคยไปสำนักงานของผู้รับจ้างเลย...

ส่วน การเขียนเว็บไซต์ด้วยตัวเองนั้น ทำได้โดยศึกษาจากตำราทั่วไป หรือสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนที่เปิดทำการสอนวิธีเขียนเว็บไซต์ ซึ่งปัจจุบันก็มีการประยุกต์ซอฟต์แวร์ประเภท โอเพ่นซอร์ส อย่าง Mambo หรือ Joomla มาจัดทำเว็บไซต์กันมากขึ้น วิธีการนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการสร้างร้านค้าออนไลน์ เพราะเสียเพียงค่าเช่าพื้นที่สำหรับฝากข้อมูล กับค่าโดเมนเนม ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในหลักพันต่อปี (ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่เช่า) แต่ต้องมีความรู้พื้นฐานในการแก้ไขระบบด้วยตัวเอง เพราะผู้ให้บริการรับฝากพื้นที่ จะช่วยแก้ไขปัญหาเวลาที่เข้าเว็บไซต์ไม่ได้เท่านั้นเอง

หากต้องการหาผู้รับผิดชอบ และเสียค่าใช้จ่ายไม่แพงมากนัก การเลือกใช้ระบบเว็บไซต์สำเร็จรูป ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะเป็นระบบที่ใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาก ระบบการสร้างเว็บไซต์ประเภทนี้จะออกแบบมาในรูปของแบบสอบถาม เว้นช่องว่าง ให้กรอก ผู้ใช้ก็เพียงกรอกข้อมูลลงไปในช่องที่กำหนด ทันทีที่ส่งข้อมูล ระบบจะทำการอัพโหลดขึ้นไปเป็นเว็บไซต์ออนไลน์ให้คนทั่วโลกดูได้ทันที

วิธีนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจจัดทำร้านค้าออนไลน์ของตนได้รวดเร็วและสะดวกสบายยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การสร้างเว็บไซต์ เป็นเพียงการสร้างร้านค้าหรือปั้นพนักงานขายคนใหม่ขึ้นมาคนหนึ่งเท่านั้น การซื้อขายจะเกิดขึ้นได้นั้น เจ้าของธุรกิจยังต้องเรียนรู้ วิธีการที่จะประชาสัมพันธ์ร้านค้า หรือพาพนักงานขายคนใหม่นี้ไปแนะนำให้ลูกค้ารู้จัก!

บทที่ 3 การประชาสัมพันธ์


บทที่ 3 การประชาสัมพันธ์

ในอดีตที่มีผู้ผลิตสินค้าน้อยรายนั้น เขาเพียงทำสินค้าให้ดีก็มีคนมาซื้อแล้ว แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ผู้บริโภค ไม่รู้ว่าจะเลือกใช้สินค้าของใครดี ในขณะที่ผู้ผลิตเองก็ต้องแย่งลูกค้าที่มีอยู่จำกัดให้ได้มากที่สุด หรือไม่ก็ต้องพยายามพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อสร้างความต้องการให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
การผลิตแชมพู จึงไม่เพียงทำความสะอาดเส้นผมเท่านั้น ยังต้องเพิ่มครีมนวดบำรุง, เสริมสร้างเส้นผมใหม่ แก้ผมร่วง เพื่อให้ผู้ใช้ประหยัดเวลาสระ และยังแยกย่อยออกเป็นแชมพูสำหรับคนเส้นผมแห้ง, ผมมัน, ผมธรรมดาอีก

การผลิตสินค้ายุคนี้จึงต้องมี “คุณสมบัติพิเศษ” เพื่อทำให้ตัวเองแตกต่างจากสินค้าคู่แข่ง

ที่สำคัญต้องรู้จักนำ “จุดแข็ง” นี้มาประชาสัมพันธ์บอกให้กลุ่มเป้าหมายทราบด้วย....

ในขณะที่การประชาสัมพันธ์ “จุดขาย” ผ่านสื่อวิทยุ, โทรทัศน์ หรือสิ่งพิมพ์ นั้นทำได้เพียงแจ้งข่าวสารให้กลุ่มเป้าหมายรับทราบ แล้ว พวกเขาต้องเดินทางไปซื้อยังจุดที่วางจำหน่าย เช่นห้างสรรพสินค้า , ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ซึ่งบางครั้ง ลูกค้าต้องเจอกับปัญหาสินค้าหมด!..สินค้ายังไม่ถูกนำมาส่งที่ร้าน ทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจหันไปใช้สินค้าของคู่แข่งที่วางขายในร้านขณะนั้นแทน..

แต่การสร้างเว็บไซต์ แล้วนำไปประชาสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะโดยวิธีแจ้งผ่านทางอีเมล หรือตั้งเป็นกระทู้ในเว็บไซต์ชุมชนต่างๆ เมื่อลูกค้าอ่านพบแล้วกดลิงค์มาเจอเว็บไซต์ของสินค้า ก็ดำเนินการสั่งซื้อ หรือโอนเงินชำระค่าสินค้าได้ทันที

ข้อเสียของสินค้าประเภทจับต้องได้ ที่ซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตก็คือ ต้องใช้เวลารอคอย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ขายต้องตรวจเช็คเมล, คำสั่งซื้ออยู่ตลอดเวลาและควรจะมีระบบการตอบรับอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความกังวลใจของผู้ซื้อ

ก่อนที่จะประชาสัมพันธ์เว็บไซต์นั้น ควรตรวจสอบความเรียบร้อยว่า ข้อความ และรูปภาพมีความสมบูรณ์หรือไม่ ตัวสะกดผิดบางคำอาจทำให้ความหมายเปลี่ยนไป แม้แต่การเชื่อมโยงลิงค์ไปหน้าเว็บต่างๆ นั้นต้องแน่ใจว่าไม่มีลิงค์ใดเสีย ถ้ามีระบบสมาชิกก็ควรลองสมัครดูก่อน เพราะเว็บไซต์ที่ดีควรมีระบบที่ใช้งานง่าย มีความเสถียรสูง หากพบปัญหาจะได้รีบแก้ไข

เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมาพิจารณาสื่อที่ใช้ประชาสัมพันธ์แต่ละประเภท ว่ามีคุณสมบัติใดบ้าง เช่น กลุ่มสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อันประกอบด้วย อีเมล, การแจ้งผ่าน SMS, การโพสต์กระทู้ในเว็บบอร์ด หรือแม้แต่การขึ้นไปอยู่อันดับต้นๆ ในเว็บไซต์ค้นหา (http://www.google.com/) และ ป้ายโฆษณา (Banner)

สื่อเหล่านี้แม้จะเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เหมือนกัน แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน ซึ่งเจ้าของธุรกิจต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้การใช้งานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

1. อีเมล : การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์นั้นค่อนข้างจะเป็นสื่อส่วนบุคคล (Privacy) ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับผู้รับ และตรวจสอบให้แน่ใจที่สุดว่า ผู้รับนั้นจะได้รับประโยชน์จากข้อเสนอนี้ การระบุชื่อ-นามสกุล ผู้รับอย่างถูกต้องจะเป็นการให้ความสำคัญมากกว่าการบอกกล่าวตำแหน่งอย่างกว้างๆ เช่น ถึงผู้จัดการ สิ่งสำคัญคือการส่งอีเมลนั้น ควรเป็นข้อความที่สั้น กระทัดรัด ได้ใจความ น่าสนใจ หากมีข้อมูลที่ต้องการนำเสนอมาก ควรจัดทำเป็นลิงค์ให้ผู้อ่านไปดูรายละเอียดในเว็บไซต์จะดีกว่า บางธุรกิจใช้อีเมลส่งรหัสส่วนลดให้ลูกค้านำไปกรอกเมื่อซื้อสินค้าในเว็บไซต์นั้นได้ทันที

2. การส่ง SMS : เมื่อโทรศัพท์มือถือมีปริมาณมากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ และเป็นสิ่งที่ต้องพกติดตัว ทำให้การส่งข้อความสั้นเพื่อประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะผู้รับสารเปิดอ่านได้ทันที แต่เมื่ออ่านแล้วจะต้องไปเปิดอินเทอร์เน็ตดูเว็บไซต์ที่กล่าวถึง ก็จำเป็นต้องมีเหตุผลที่เร้าใจเพียงพอ เช่น สมัครสมาชิกใหม่ที่เว็บไซต์.........วันนี้ ชิงตั๋วดูภาพยนตร์ฟรี หมดเขตวันที่ ..........

3. การโพสต์กระทู้ในเว็บบอร์ด เชื่อกันว่า http://www.pantip.com/ ซึ่งมีห้องต่างๆ ให้สนทนาออนไลน์กันนั้น วันหนึ่งๆ มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนแสน ดังนั้นจึงมีทั้งการประกาศขายสินค้า และกระทู้ความคิดเห็นทั่วไป การประชาสัมพันธ์เว็บไซต์เพื่อจำหน่ายสินค้านั้น ส่วนใหญ่เขามีกติกาให้ไปประกาศในห้องที่จัดไว้สำหรับขายของโดยเฉพาะ แต่เนื่องจากห้องดังกล่าวมักมีคนเข้าน้อยกว่าห้องที่แสดงกระทู้ทั่วไป หลายธุรกิจจึงมักใช้วิธีร่วมแสดงความคิดเห็นแล้วค่อยโยงประเด็น ไปยังเว็บไซต์ของตน วิธีนี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผล เพราะคนที่มาโพสต์ กระทู้นั้นกำลังต้องการความคิดเห็น เปรียบเทียบเรื่องราคาของสินค้าอยู่แล้ว ข้อเสียคือ ถ้าทำไม่แนบเนียน เจ้าของเว็บจับได้ไล่ทันก็จะทำการลบกระทู้นั้นออก!

4. การทำเว็บไซต์ให้ขึ้นอันดับต้นๆ ของเว็บค้นหา หรือที่เรียกว่า Search Engine Optimization (SEO) หลักการเบื้องต้นของวิธีการนี้คือ ต้องรู้ “คำค้นหา” (Key Word) เสียก่อนว่า เวลาที่ลูกค้าจะค้นหาสินค้าของเรานั้น จะใช้คำว่าอะไร เช่น ถ้าขายปลาทู เมื่อลูกค้าต้องการซื้อปลาทูก็จะพิมพ์คำว่า “ปลาทู” ลงไปในเว็บไซต์ค้นหา Google.com ดังนั้นข้อมูลที่จัดทำเว็บไซต์ ก็ควรจะมีวลีคำว่า “ปลาทู” อยู่ในตำแหน่งต่างๆ (แม้แต่ชื่อไฟล์ภาพ) ให้มากที่สุด แต่ต้องเป็นประโยคที่อ่านแล้วเข้าใจ เพราะในกรณีที่เข้าไปแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ จะทำให้ผู้ค้นหากลับไปค้นคำเดิมในเว็บ Google.com ใหม่ ถ้าปล่อยสถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป ระบบของ Google.com ก็จะมีการปรับตำแหน่งเว็บไซต์ที่จัดอันดับใหม่ และอาจทำให้เว็บไซต์ปลาทูของเราตกไปอยู่อันดับล่างๆ บางเว็บไซต์จึงต้องมีลิงค์ไปยังเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะให้ผู้ค้นหาไม่ต้องกลับไปเริ่มต้นที่ Google.com ใหม่ การแลกลิงค์ก็มีผลดี เพราะหากมีเว็บไซต์อื่นๆ ลิงค์มาหาเว็บของเรามากๆ ก็แสดงว่าเป็นเว็บที่ได้รับการยอมรับ อันดับของเราใน Google.com ก็จะอยู่ต้นๆ ไปด้วย

5. ป้ายโฆษณา Banner เป็นอีกวิธีที่จะช่วยประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ สมัยก่อนใช้วิธีการแลกลิงค์ระหว่างเว็บฯ ช่วยกันหาลูกค้าร่วมกัน เช่นเว็บไซต์ขายสุนัข แลกลิงค์กับเว็บขายอาหารสุนัข เป็นต้น แต่สมัยนี้ หากจะโฆษณาในเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก อาจต้องซื้อตำแหน่งสำหรับวางป้ายโฆษณา ลักษณะการจ่ายเงินก็มีทั้งแบบเหมาจ่ายเป็นรายเดือน กับคิดตามจำนวนที่มีผู้คลิกเข้าไปเยี่ยมชม
อย่างไรก็ตาม สื่อภายนอกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ก็ยังเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมของคนส่วนใหญ่ ดังนั้น ควรหาช่องทางที่จะใช้สื่อเหล่านี้ ช่วยประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ด้วย
ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) มีข้อจำกัดเรื่องทุนในการซื้อพื้นที่ประชาสัมพันธ์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือเวลาในการออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ดังนั้น ควรต้องสร้าง “เรื่องราว” (Story) ให้เกิดความน่าสนใจ เช่น แต่งชุดมนุษย์แมงมุมไปส่งแก๊ส, การนำเนื้อปลาฉลามมาทำปลาร้าทรงฟุตบอลเพื่อรับเทศกาลฟุตบอลโลก, การสร้างนวัตกรรม, การผลิตสินค้าที่ตอบรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม , ผลิตภัณฑ์สำหรับลดโลกร้อน เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่ “สื่อมวลชน” ให้ความสนใจอยู่แล้ว และยินดีจะเผยแพร่ข้อมูลไปสู่สาธารณชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย...
การคัดเลือกสินค้ามาจำหน่าย จึงถือเป็น “กุญแจสำคัญ” ในการไขประตูความสำเร็จของธุรกิจ!?! เพราะหากสินค้านั้น ไม่สามารถหาจุดขายมาบรรยายให้คนเกิดความน่าสนใจได้ ก็ยากที่จะหาเรื่องมาเขียนข่าว ทำประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักได้

เมื่อไม่มีใครรู้จัก
ทำเว็บไซต์ไปก็ขายของไม่ได้อยู่ดี!!!!

บทที่ 4 สินค้า


บทที่ 4 สินค้า

ผู้ประกอบการธุรกิจที่ทำธุรกิจเดิมอยู่แล้ว สามารถใช้เว็บไซต์เป็นอีกช่องทางในการขยายตลาด เช่น เดิมเคยขายเสื้อผ้าที่ตลาดนัดจตุจักร เฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ เมื่อทำเว็บไซต์ก็จะทำให้เกิดกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น ไม่ถูกจำกัดด้วยบริเวณ และระยะเวลา ลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาถึงจตุจักร สั่งซื้อได้จากเชียงใหม่หรือภูเก็ต อีกทั้งไม่ต้องรอให้ถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ ลูกค้าสั่งซื้อได้ตลอดเวลา

แต่สำหรับผู้ที่เริ่มจะประกอบการธุรกิจ คงต้องคิดมากเป็นพิเศษ ว่าตัวเองจะขายอะไรดี!?! บางคนเริ่มต้นการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการไปขอถ่ายภาพสินค้าจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในตลาดนัดวันหยุดสุดสัปดาห์ แล้วมาสร้างเว็บไซต์ตลาดนัดบนโลกออนไลน์บ้าง ต้องระวังว่า เวลาลูกค้าสั่งซื้อแล้วกลับไปซื้อสินค้านั้นจากตลาดไม่ได้ เนื่องจากเลิกผลิตหรือตกรุ่นแล้ว หรือ สินค้าที่ถ่ายภาพเดิมถูกขายไปแล้ว สินค้าที่มีอยู่ก็มีคุณลักษณะที่แตกต่าง ครั้นจะซื้อสินค้าเหล่านั้นมาทั้งหมดเลย ก็ต้องใช้เงินลงทุนมาก

ดังนั้น การหาสินค้ามาทำเว็บไซต์ขายของ จึงต้องยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ผมรู้จักแม่ค้าออนไลน์คนหนึ่ง เธอเป็นห่วงลูกชายมาก กลัวไม่มีเวลาดูแล ในช่วงที่ลูกชายกำลังก้าวไปสู่วัยรุ่น อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต จึงยื่นใบลาออกจากงานประจำมาทำอีคอมเมิร์ชเต็มตัว งานประจำที่เธอรับผิดชอบคือการออกแบบและเขียนลายผ้าบาติก เมื่อมาทำเว็บไซต์ก็ใช้วิชาที่ติดตัวมานั้นสร้างสรรค์งานศิลปะลายผ้าบาติก ที่สำคัญคือเธอกล้าที่จะทำเว็บไซต์ภาษาอังกฤษเพื่อขายไปต่างประเทศ แม้ว่าจะมีความรู้ภาษาอังกฤษแบบ งูๆ ปลาๆ แต่อาศัยลูกขยัน เวลาที่ลูกค้าอีเมลมาถามก็ปั่นจักรยานไปจ้างคนแปลปากซอย...

เธอทำเว็บไซต์ขายผ้าบาติกอยู่เกือบสามปี ก็มีข่าวดี เมื่อลูกค้าฝรั่งสนใจที่จะสั่งซื้อล๊อตใหญ่ พร้อมเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศให้!!!

นิสิตปริญญาโทคนหนึ่งก็ไม่รู้จะขายอะไร เลยทำเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ เปิดกว้างว่า ถ้าคุณอยากได้อะไรจากเมืองไทย จะไปสรรหามาให้ ปรากฏว่ามีชาวต่างประเทศหลายคนอีเมลแจ้งสินค้ามาหลากหลายชนิด เขาเก็บข้อมูลเหล่านี้แล้วพบว่า 80% จะสั่งดอกไม้ให้กับคนที่อยู่ในประเทศไทย เขาจึงเปิดเว็บไซต์ขายดอกไม้ โดยออกแบบการจัดดอกไม้เป็นชุดๆ ให้ลูกค้าเลือกตามวาระเทศกาล และอาศัยร้านดอกไม้ต่างๆ เป็นผู้ผลิตสินค้าเหล่านั้น ปรากฏว่า ช่วงวันวาเลนไทน์ (7-14 กพ.) บางปีเขาได้รับยอดสั่งซื้อถึง 3 แสนบาท!

สินค้าประเภทนี้ได้รับความนิยมเพราะถือเป็นสินค้าเชิงวัฒนธรรมไปแล้ว โดยเฉพาะคนต่างประเทศที่มีคนรักอยู่ในเมืองไทย ถ้าสั่งจากเมืองนอกมาให้ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าสั่งซื้อเว็บไซต์ที่อยู่ในประเทศไทย
จาก 2 ธุรกิจออนไลน์นี้ เราจะได้คำตอบของการเลือกสินค้ามาทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่น่าสนใจ คือ

1. สินค้านั้น เราต้องมีความเชี่ยวชาญ เข้าใจคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ และรู้จักเลือกตลาด แม่บ้านที่ขายผ้าบาติกนั้น อาศัยทักษะจากงานประจำ มาพัฒนาสินค้าของตัวเองขาย เข้าใจประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตว่าเป็นสื่อที่คนทั่วโลกเข้าถึงได้ แต่การใช้ภาษาอังกฤษจัดทำเว็บไซต์นั้น ก็เหมือนเจาะจงให้เฉพาะชาวต่างประเทศซื้อ การที่เธอไม่เลือกทำตลาดในเมืองไทย สาเหตุหนึ่งก็คือมีการแข่งขันกันสูง ขายสินค้าไม่ได้ราคา แม้ว่าจะมีจุดอ่อนเรื่องของภาษาอังฤษสำหรับเธออยู่บ้าง แต่ก็รู้จักวิธีแก้ปัญหา สำหรับกำไรจากการขายผ้าบาติกที่ได้มาส่วนหนึ่งนั้น ปัจจุบันเธอนำไปลงทุนสมัครเข้าคอร์สเรียนภาษาอังกฤษ!

2. สำหรับเว็บไซต์ขายดอกไม้นั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งผู้ขายใช้ความได้เปรียบในเรื่องของราคา คุณภาพของสินค้า และบริการที่ตรงต่อเวลามัดใจลูกค้า โดยปกติการซื้อดอกไม้ของลูกค้าเดิมนั้นจะทำกันทุกปี ผู้ขายอาศัยข้อมูล วัน เวลาในการสั่งซื้อ อีเมลไปแจ้งเตือนลูกค้าให้หวนกลับมาใช้บริการทุกปี การทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ให้เติบโตได้นั้น จึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้ารู้สึกว่า “คุ้มค่า” เมื่อใช้บริการ ที่สำคัญ เมื่อเขาใช้บริการแล้ว ต้องทำให้เขาซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง..

การพิจารณาคัดเลือกสินค้ามาขายบนอินเทอร์เน็ตนั้น จึงต้องพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ประกอบด้วยทุกครั้ง
1. สินค้าที่หาซื้อได้ยากจากช่องทางปกติ ข้อจำกัดของการค้าออนไลน์ประการหนึ่งคือการที่ลูกค้าจะต้องเสียเวลารอรับสินค้า ดังนั้น หากสินค้าประเภทเดียวกันมีขายในร้านทั่วไป ลูกค้าก็เลือกที่จะไปซื้อของตามร้านเหล่านั้นมากกว่า

2. สินค้าที่ลูกค้าต้องการความเป็นส่วนตัว สินค้าบางประเภทนั้น มีข้อจำกัดในการวางขายตามร้านทั่วไป เช่น การจำหน่ายชุดชั้นในที่แสดงความเซ็กซี่เกินปุถุชน , ถุงยางอนามัย, ฯลฯ หลายคนอายที่ต้องยืนถือสินค้าไปยืนเข้าแถวรอจ่ายเงินที่โต๊ะแคชเชียร์ แต่การซื้อของจากอินเทอร์เน็ตนั้น ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าจากห้องนอน ที่มีบรรยากาศความเป็นส่วนตัว ทำให้เกิดความสะดวกใจมากกว่า

3. สินค้าที่มีราคาถูกกว่าการซื้อทางร้านค้าทั่วไป เพราะการทำเว็บไซต์นั้นมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าค่าเช่าร้าน และไม่ต้องจ้างพนักงานขาย ทำให้ลดต้นทุนสินค้า หากเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานเดียวกัน เช่น หนังสือ หรือ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีผู้ผลิตเป็นผู้รับประกันอยู่แล้ว ผู้ซื้อหลายคนใช้วิธีการไปเปิดอ่านตามร้านหนังสือ หรือทดสอบเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ตามห้างฯทั่วไป แต่เวลาซื้อกลับไปสั่งจากร้านในอินเทอร์เน็ต เนื่องด้วยมีราคาต่ำกว่ามาก

กรณีนี้เคยเกิดกรณีพิพาท เมื่อลูกค้าไปทดลองกางเกงยีนส์ตามห้าง แล้วไปสั่งซื้อโดยตรงจากเว็บไซต์ผู้ผลิต ทำให้ห้างสรรพสินค้าเหล่านั้น คว่ำบาตรไม่ยอมขายกางเกงยีนส์ยี่ห้อนั้น จนผู้ผลิตต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ด้วยการออกรุ่นพิเศษ หรือให้บริการเฉพาะงานสั่งตัดเท่านั้น จะไม่ขายกางเกงรุ่นเดียวกับที่มีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า

4. สินค้ามือสอง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้แล้ว จึงมีราคาต่ำกว่าของใหม่มาก ผู้ประกอบการรายหนึ่งประสบปัญหาขาดทุนเมื่อทำธุรกิจร้านอาหาร เธอจึงประกาศขายเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ครัวต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต ปรากฏว่ามีผู้สนใจโทรมาสอบถามและติดต่อซื้อสินค้าเธอมากมาย ทำให้เธอเกิดความคิดสร้างธุรกิจใหม่ ด้วยการรับซื้อของเก่าแล้วเอามาเปิดขายผ่านทางเว็บไซต์

5. สินค้าที่มีลักษณะพิเศษ หากมองผิวเผินสินค้าในกลุ่มนี้ ไม่ใช่สินค้าเป็นที่นิยม แต่จะมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่หลงใหล ครั้นจะไปลงทุนเช่าร้านในห้าง ก็กลัวว่ากำไรที่ได้จะต้องเอาไปจ่ายค่าเช่าหมด การทำเว็บไซต์ขายจึงดูจะเป็นทางออกของผู้ชื่นชอบสิ่งเหล่านี้ เพราะคนขายลงทุนหน้าร้านน้อย คนซื้อก็ไม่ต้องจ่ายแพงมาก เช่น พระเครื่อง, ของสะสม จากน้ำอัดลม, แผ่นเสียง, เครื่องเสียงรุ่นเก่า งานศิลปะ

6. สินค้าประเภทซอฟต์แวร์ ถือเป็นความได้เปรียบ เพราะสินค้าประเภทนี้จัดส่งให้กับผู้ซื้อผ่านทางอินเทอร์เน็ต ด้วยวิธีดาวน์โหลดได้ทันที หลังชำระเงินแล้ว ทั้ง เพลง MP3 , E-Book, ริงโทน จึงกลายเป็นสินค้ายอดนิยมของคนบนโลกไซเบอร์ เนื่องจากราคาถูกกว่าการซื้อแผ่นซีดีตามท้องตลาดทั่วไป แถมยังเลือกเฉพาะเพลงที่ต้องการได้อีกด้วย

ในกรณีสินค้าจับต้องได้นั้น ผู้ขายควรคำนึงถึงค่าส่งที่ผู้ซื้อต้องจ่ายด้วย หากเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมาก โอกาสแตกหักเสียหายง่าย ทำให้ผู้ซื้อต้องรับภาระทั้งค่าส่งและค่าประกัน อาจทำให้ราคาสินค้านั้นสูงเกินไป จนผู้ซื้อถอดใจ ไม่อยากได้สินค้านั้นแล้ว

การเลือกสินค้าบางประเภทมาขาย ต้องรู้กฏและระเบียบด้วย เช่น ประเทศอิตาลี ห้ามนำเข้าเครื่องหนัง, ยาแก้ปวดบางประเภทห้ามนำเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่การส่งสินค้าปลอม นอกจากจะไม่ได้เงินจากผู้ซื้อแล้ว ผู้ขายยังอาจถูกดำเนินคดีตามกฏหมายด้วย!

อย่างไรก็ตาม “งานบริการ” ก็สามารถทำเป็นธุรกิจผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เช่น การรับแปลเอกสาร, การตกแต่งรูปภาพ, การส่งงานเพื่อออกแบบดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นนามบัตร, แผ่นพับ , หนังสือ หรือแม้แต่ โลโก้ การมีเว็บไซต์จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเป็นสื่อส่งผลงานสำหรับตรวจสอบ และแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

มีเว็บไซต์ขายหุ่นปั้นโมเดลหน้าเหมือนบุคคล ซึ่งเป็นสินค้าเฉพาะ ถ้าต้องการให้ปั้นรูปใคร ก็เพียงส่งอีเมลภาพของบุคคลที่ต้องการให้เขาปั้นไป จากนั้นใช้เวลา 2 อาทิตย์ เมื่อเขาปั้นเสร็จก็จะจัดส่งสินค้าให้ทางไปรษณีย์

สินค้าที่มีเอกลักษณ์ เฉพาะบุคคล หรือทำเมื่อได้รับคำสั่งซื้อแบบนี้ก็เป็นอีกแนวความคิดหนึ่งในการใช้ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต เพื่อสำรวจความต้องการได้
ขึ้นอยู่กับว่าใครจะค้นพบ และลงมือทำก่อนกันเท่านั้นเอง!!!

บทที่ 5 ทำให้คนซื้อของบนเว็บไซต์


บทที่ 5 ทำให้คนซื้อของบนเว็บไซต์



หลังจากที่ ทำเว็บไซต์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจต้องหาวิธีเปลี่ยนผู้เยี่ยมชม (Visitor) ให้เป็นผู้ซื้อ (Buyer) เว็บไซต์นั้นจึงจะเกิดรายได้ ปัจจัยที่ผู้เยี่ยมชมจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากเว็บไซต์นั้นประกอบไปด้วย


1.สินค้า เป็นที่ต้องการของตลาด สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่า สินค้าที่มีการซื้อขายมากผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในปี พ.ศ. 2550 มีดังนี้


1.1 คอมพิวเตอร์ , อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 18.6 %
1.2 กลุ่มสินค้า แฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณี 18 %
1.3 ธุรกิจบริการ การศึกษา, ประกันภัย 9.4 %
1.4 การท่องเที่ยว, โรงแรม, รีสอร์ต 7.6 %
1.5 ยานยนตร์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 6.0%
1.6 สิ่งพิมพ์และเครื่องใช้สำนักงาน 4.8 %


จะเห็นว่า สินค้าเกือบทุกประเภทขายผ่านอินเทอร์เน็ตได้ แต่ต้องพิจารณาความสามารถของตัวเองด้วยว่ามี “จุดแข็ง” เพื่อเข้าไปสู่การแข่งขันในตลาดนั้นได้หรือไม่ !? เพราะหากไม่มีความแตกต่างเรื่องของตัวสินค้าแล้ว ผู้ซื้อจะไปพิจารณาเรื่องของ “ราคา” แทน


2.ราคา หากเป็นสินค้าที่ผู้ซื้อมีความคุ้นเคยดีอยู่แล้ว เมื่อเปิดเว็บไซต์ขายสินค้านั้นในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ก็จะได้รับคำสั่งซื้อทันที มีเว็บขายสมุนไพรแห่งหนึ่ง เพียงนำกล่องสินค้ากวาวเครือ ที่มีแบรนด์ ผลิตในประเทศไทย แต่เป็นที่นิยมในฮ่องกง มาแสกนประกาศขายในเว็บไซต์ของตน โดยที่ยังไม่ได้พิมพ์รายละเอียดของสินค้าเลย แค่ลูกค้าเห็นยี่ห้อกล่องก็ทำรายการสั่งซื้อผ่านบัตรเครดิตมาแล้ว เพราะเห็นว่าราคาแม้รวมค่าขนส่งจากประเทศไทยมาแล้วก็ยังมีราคาขายต่ำกว่าที่วางจำหน่ายในร้านของฮ่องกง


3. นโยบายการค้าที่เป็นธรรม ด้วยเทคโนโลยีของระบบสถิติในเว็บไซต์ ทำให้เราเก็บข้อมูลจำนวนการคลิกเข้าเยี่ยมชมเว็บเพจหน้าต่างๆ ได้ จะพบว่า นอกจากหน้าสินค้ายอดฮิตแล้ว ลูกค้ามักเข้าไปดูนโยบายการรับคืนสินค้า (Return Policy) ด้วยว่า มีการรับประกันสินค้า หากเกิดปัญหาหรือไม่ ดังนั้นเว็บไซต์ขายสินค้าที่ดีจึงควรมีนโยบายในเรื่องนี้อย่างเป็นธรรมแก่ผู้ซื้อด้วย เพื่อทำให้ลูกค้ารู้สึกลดความเสี่ยงในการซื้อสินค้า เหมือนเวลาที่เราซื้อของแล้วได้ใบรับประกัน แม้เพียงเป็นกระดาษใบเดียว แต่ก็ช่วยให้อุ่นใจขึ้น


4. เว็บไซต์มีความน่าเชื่อถือ นอกจากประวัติการดำเนินงานแล้ว การออกแบบโครงสร้าง, ตัวอักษร, สีสัน การใช้งานระบบ, การเชื่อมโยงลิงค์ต่างๆ ก็มีส่วนที่จะเพิ่มน้ำหนักคุณค่าในการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าควรจะตัดสินใจซื้อหรือไม่ ? ในกรณีมีระบบชำระเงินก็ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยประกอบด้วย เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าข้อมูลอันเป็นความลับของเขาจะไม่รั่วไหล และกลับมาสร้างความลำบากให้กับเขาในอนาคต


5. บริการตอบรับอย่างรวดเร็ว ถือเป็นความรับผิดชอบของคนทำอีคอมเมิร์ช เพราะการทำรายการสั่งซื้อผ่านหน้าจอนั้น อาจเกิดปัญหาได้ทุกขั้นตอน เมื่อลูกค้าทำรายการติดขัด หรือมีข้อสงสัยใด แล้วอีเมลไปถาม หากได้คำตอบที่ช้า ข้ามวันไป ก็มีส่วนทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจ ไม่อยากใช้บริการ เพราะเกิดความไม่มั่นใจ ดังนั้นทันทีที่ได้รับคำสั่งซื้อออนไลน์จากลูกค้า ผู้ขายควรจะรีบติดต่อกลับให้ผู้ซื้อทราบทันที ไม่ว่าจะเป็นข้อความขอบคุณที่ใช้บริการ หรือรายงานสถานะของการจัดส่งสินค้าว่าวันไหน ของจะถึงมือลูกค้า


6. กิจกรรมส่งเสริมการขาย การมีเว็บไซต์ก็เหมือนการเปิดร้านขายของ ลูกค้าคลิกเข้ามาดูสินค้าได้ทุกวัน ดังนั้น หากยังไม่จำเป็นที่ต้องใช้สินค้า ก็นอนใจ ไม่สั่งซื้อ เจ้าของธุรกิจจึงต้องใช้กลยุทธ์การตลาด กระตุ้นให้ลูกค้าเร่งตัดสินใจซื้อ โดยใช้กรอบระยะเวลาเป็นตัวกำหนด เช่น ซื้อภายในเดือนนี้จะได้รับส่วนลดพิเศษ หรือแถมสินค้า เป็นต้น และเมื่อถึงเวลาที่กำหนดแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่น อย่าปล่อยวันหมดเขตค้างอยู่บนเว็บเด็ดขาด!


7. ทำเว็บไซต์ให้มีชีวิตชีวา ร้านค้าที่ไม่มีการปรับปรุงร้าน ลูกค้าจะเกิดความเบื่อหน่าย จำเจ เว็บไซต์ถ้าไม่มีการปรับปรุง จะทำให้คนเข้ามาซื้อไม่แน่ใจว่าเว็บนี้ เจ้าของยังเปิดทำการอยู่หรือเปล่า !? ดังนั้น ควรมีการปรับปรุง เพิ่มรายการสินค้าใหม่ อย่างน้อยวันเว้นวัน หาสินค้าที่เหมาะสมกับเทศกาลมาจำหน่าย ผู้เข้าเยี่ยมชม แม้ไม่ตัดสินใจซื้อวันนี้ ก็ยังอยากเข้ามาติดตามดูว่าจะครั้งต่อไปจะมี “สิ่งใหม่ๆ” ที่โดนใจเขาหรือไม่!?!


8. สร้างสมาชิก การทำให้ผู้เยี่ยมชม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ จะทำให้พวกเขาเกิดความผูกพัน มีหลายเว็บไซต์ที่เปิดมาให้ความรู้เรื่องต่างๆ โดยผู้สนใจจะต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิก เมื่อมีการรวมตัวกันมากขึ้น เว็บไซต์นั้นก็ทำการผลิตสินค้าที่ระลึกออกจำหน่ายให้กับสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า, เสื้อยืด, แก้วน้ำ กลายเป็นสินค้าที่ขายดี บางทีไม่ต้องผลิตมาก ทำเฉพาะเท่าที่สมาชิกสั่งซื้อ ด้วยวิธีนี้ก็ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องสินค้าค้างสต๊อก


9. สร้างทางเลือก การทำเว็บไซต์นั้น นอกจากจะต้องมีสินค้าหลากหลายให้ลูกค้าเลือกแล้ว การรับส่งสินค้าก็ควรมีหลายวิธี, แม้แต่ระบบชำระเงิน ถ้าเป็นการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารก็ควรมีหลายธนาคาร, มีระบบชำระเงินผ่านบัตรเครดิตต่างๆ ให้ลูกค้าเลือกทำรายการสั่งซื้อสินค้าได้ทันที นอกจากนั้น ช่องทางการติดต่อสื่อสาร ที่มีอีเมลหรือเว็บบอร์ดแล้ว ก็ควรต้องมี ศูนย์กลาง Call Center เพื่อแก้ปัญหาที่ลูกค้าต้องการทราบคำตอบอย่างเร่งด่วนให้เลือกด้วย.

บทที่ 6 การส่งของและชำระเงิน


บทที่ 6 การส่งของและชำระเงิน

ข้อดีของอีคอมเมิร์ชประการหนึ่ง คือยังไม่มีใคร สามารถขโมยของผ่านจอมอนิเตอร์ได้ แต่มีผู้ประกอบการธุรกิจหลายรายที่ส่งสินค้าไปให้ลูกค้าแล้ว ไม่ได้รับเงินค่าสินค้า คิดแบบนี้ ก็เหมือนถูกขโมยของไปเหมือนกัน แต่น่าเจ็บใจกว่าเพราะเจ้าของสินค้าเป็นผู้ห่อของส่งให้โจรด้วยมือของตัวเองแท้ๆ

ดังนั้น ก่อนที่จะส่งของให้กับลูกค้านั้น ต้องพิจารณาคำสั่งซื้ออย่างละเอียดถี่ถ้วน ว่ามีพิรุธตรงจุดใดบ้าง เช่นสั่งซื้อปริมาณมากผิดปกติ เพราะหากเป็นลูกค้าที่ไม่เคยเห็นสินค้าจริงมาก่อนน่าจะขอสินค้าตัวอย่างมาดูก่อน ว่าเหมือนภาพที่แสดงหรือไม่ เมื่อพอใจแล้วจึงค่อยสั่งซื้อ

สินค้าที่ตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการโจรกรรมก็คือสินค้าแบรนด์เนม , อัญมณี และสินค้าที่แปรเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น โทรศัพท์มือถือ, โน๊ตบุ๊ค, กล้องดิจิตอล

ผู้ประกอบการธุรกิจจึงควรออกแบบระบบการส่งของและชำระเงินให้รัดกุม คนขายบางคนให้ผู้ซื้อโอนเงินเข้าบัญชีก่อน ค่อยส่งสินค้า วิธีนี้แม้จะตัดปัญหาการส่งสินค้าแล้วไม่ได้เงินโดยเด็ดขาด แต่ก็อาจเสียลูกค้าหลายรายที่ไม่มั่นใจว่าโอนเงินไปแล้วจะได้รับสินค้าหรือไม่ การออกแบบเว็บไซต์จึงต้องมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น คำชมจากผู้ที่เคยซื้อสินค้าไปแล้ว, หมายเลขพัสดุการส่งสินค้าจริงจากกรมไปรษณีย์ หรือแม้แต่สถานที่ทำการอย่างเป็นหลักแหล่ง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ซื้ออุ่นใจขึ้น

วิธีการส่งสินค้าที่ดูเป็นธรรมสำหรับทั้งสองฝ่ายก็คือการนัดสถานที่เพื่อรับสินค้าและชำระเงินสด เหมือนยื่นหมูยื่นแมว โดยอาศัยร้านฟาสต์ฟู๊ด, ร้านกาแฟในห้างสรรพสินค้า หรือตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น
การส่งสินค้าแบบพัสดุเก็บเงินปลายทาง (พกง.) เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของผู้ขาย เพราะเมื่อผู้ขายส่งสินค้าทางไปรษณีย์แล้ว ผู้ซื้อจะได้รับไปรษณีย์บัตรให้ไปรับของที่ทำการไปรษณีย์ใกล้บ้าน และต้องชำระค่าสินค้าให้กับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์เรียบร้อยเสียก่อนจึงจะรับพัสดุสินค้าได้ จากนั้นไปรษณีย์ก็จะส่งตั๋วแลกเงินหรือธนาณัติให้กับผู้ขาย การส่งวิธีนี้จะมีค่าส่งเพิ่ม ผู้ขายจึงต้องตกลงกับผู้ซื้อให้ดีเสียก่อนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้

มีผู้ประกาศขายโทรศัพท์มือถือรายหนึ่ง ส่งสินค้าด้วยวิธีนี้ แต่เมื่อผู้ซื้อไปรับที่ไปรษณีย์ปรากฏว่าภายในกล่องนั้นมีเพียงขวดเปล่าเครื่องดื่มบำรุงกำลัง (การเปิดกล่องพัสดุควรเปิดต่อหน้าเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ด้วย ในกรณีที่เกิดปัญหาสินค้าแตกหักเสียหาย หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ จะได้มีพยานช่วยยืนยัน)
บังเอิญว่าผู้ซื้อรายนี้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงทำการสืบสวนและจับกุมผู้ขายได้ แม้ว่าเขาจะอธิบายว่า การส่งขวดเปล่ามาให้เป็นขั้นตอนหนึ่งของการส่งสินค้า ว่ามีตัวตนผู้ซื้ออยู่จริง เมื่อได้ขวดเปล่าแล้วผู้ซื้อต้องโทรไปบอกผู้ขาย จะได้ส่งสินค้าของจริงมาให้ โดยผู้ขายอ้างว่า ที่ต้องทำแบบนี้ เพราะเคยส่งสินค้ามาให้ ปรากฏว่าไม่มีผู้มารับ ของต้องติดอยู่ที่ทำการไปรษณีย์หลายวัน กว่าสินค้าจะตีกลับไปถึงเขา โทรศัพท์มือถือก็ตกรุ่น หมดราคาไปแล้ว เขาเลยต้องใช้วิธีนี้เพื่อพิสูจน์ว่ามีผู้มารับสินค้าจริงๆ

ปรากฏว่าเหตุผลนี้ ผู้ซื้อไม่ยอมรับฟัง จึงต้องดำเนินคดีกับผู้ขาย เพราะเหตุว่าไม่ยอมบอกกระบวนการอันซับซ้อนนี้ให้ทราบแต่ทีแรก...

การชำระเงินด้วยบัตรเครดิต เป็นวิธีที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่นิยมใช้กัน เนื่องจากในกรณีที่ไม่ได้รับสินค้า หรือผู้ขายส่งสินค้าผิดลักษณะมาให้ ถึงเวลาที่ธนาคารส่งใบแจ้งหนี้มาก็สามารถที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินได้
ผมเคยมีประสบการณ์เรื่องนี้ เมื่อต้องสั่งซื้อซอฟต์แวร์จากเว็บไซต์ในต่างประเทศแห่งหนึ่ง ความจริงหากเขาส่งพาสต์เวิล์ดมาให้ ผมก็ดาวน์โหลดโปรแกรมได้แล้ว แต่ปรากฏว่า ไม่เคยมีการตอบรับจากเว็บไซต์เลย แม้อีเมลไปทวงถามก็เงียบ...จนกระทั่งทางธนาคารส่งใบแจ้งหนี้ประจำเดือนมาให้ และมีรายการเรียกเก็บเงินจากการสั่งซื้อสินค้านี้รวมอยู่ด้วย

ผมโทรศัพท์ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งนั้น โดยบอกว่าไม่ได้รับสินค้า ขอให้ธนาคารทำเรื่องยกเว้นการชำระเงินจำนวนนี้ด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นในรอบบัญชี ผมจะนำเงินไปชำระตามกำหนด เจ้าหน้าที่ฯ ได้สอบถามว่าเคยอีเมลไปทวงถามผู้ขายหรือไม่ ผมจึงแฟกซ์หลักฐานการทวงถามไปให้ทางธนาคารพิจารณา เจ้าหน้าที่รายนั้นพยายามเกลี้ยกล่อมให้ผมชำระยอดเต็มทั้งหมดก่อน เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่า ผู้ขายไม่ส่งสินค้ามาให้ ก็จะดำเนินการคืนเงินจำนวนนั้น ซึ่งผมยังคงยืนยันว่าผมจะชำระค่าสินค้าเฉพาะที่ใช้บริการจริงเท่านั้น

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา เจ้าหน้าที่ธนาคารฯก็โทรมาแจ้งว่า ได้ระงับการใช้บัตรเครดิตหมายเลขดังกล่าวของผมแล้ว เพราะมั่นใจว่าเว็บไซต์นั้น ไม่ได้ขายสินค้าจริง เป็นเพียงเว็บที่ตั้งขึ้นเพื่อล่อให้ผู้ซื้อกรอกหมายเลขบัตรเครดิต แล้วหวังจะขโมยข้อมูลบัตรไปใช้ซื้อสินค้าจากเว็บไซต์อื่น ดังนั้นเพื่อตัดปัญหานี้ ทางธนาคารจึงยกเลิกหมายเลขบัตรเดิมผม และจะออกบัตรเครดิตหมายเลขใหม่ให้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยไม่ลืมทิ้งท้ายว่าขอให้ผมไปชำระเงินค่าสินค้าจากการใช้บัตรเครดิตใบเดิมตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่ได้รับบริการจริง!

เรื่องนี้ หากคิดต่อก็น่าเห็นใจผู้ขายสินค้าบนโลกออนไลน์ ที่มิจฉาชีพนำข้อมูลจากบัตรผมไปกรอกหลอกลวงซื้อสินค้า เพราะถ้าบัตรเครดิตของผมไม่ถูกระงับ ระบบก็จะตรวจสอบได้ว่าบัตรผมยังไม่หมดอายุ, ยังมีวงเงินเหลือเพื่อซื้อสินค้าได้, ชื่อกับหมายเลขบัตรเครดิตกรอกถูกต้อง ธนาคารก็จะออกรหัสอนุมัติให้ผู้ขายรับเงินค่าสินค้าได้โดยอัตโนมัติ!

ผู้ขายบนโลกออนไลน์หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า เงินที่ตนได้รับเข้าบัญชีนั้นเป็นเงินของลูกค้า แต่อย่าลืมว่า บัตรเครดิตนั้น ธนาคารจะเป็นผู้สำรองเงินสดจ่ายให้ก่อน แล้วจึงค่อยส่งใบแจ้งหนี้มาแจ้งให้เจ้าของบัตรเครดิตไปชำระเงินที่ธนาคารภายหลัง เมื่อเจ้าของบัตรปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะไม่ได้เป็นผู้ทำรายการนั้น ธนาคารก็จะมาทวงเงินที่เคยโอนให้คนขายกลับคืน ถ้าคนขายไม่ยอมคืนเงินจำนวนนั้น ธนาคารก็จะหักจากวงเงินค้ำประกันแทน

ดังนั้นผู้ขายสินค้าซึ่งมีบัญชี (Merchant ID) กับธนาคารจึงควรหาวิธีป้องกันมิจฉาชีพเหล่านี้ เช่น ให้ธนาคารตรวจสอบลักษณะการทำรายการสั่งซื้อ จากเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งแต่ละเครื่องจะมีหมายเลข IP Address ถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นมีการสั่งซื้อมากผิดปกติ หรือคำสั่งซื้อนั้นมาจากประเทศที่มีการทุจริตบ่อย (ส่งของไปแล้ว เก็บเงินไม่ได้) ธนาคารก็จะมีการเก็บข้อมูลเหล่านี้เพื่อเตือนผู้ขายให้ระมัดระวังก่อนส่งสินค้า

เคยมีผู้ทำเว็บไซต์ขายช้อนส้อมไปต่างประเทศ วันหนึ่งเธอโทรศัพท์มาเพื่อปรึกษาว่าได้รับคำสั่งซื้อ ช้อนส้อมเงินถึง 2,000 คู่ เธอไม่แน่ใจว่าควรจะส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อรายนี้ที่อยู่อเมริกาดีหรือไม่ เพราะมูลค่าของสินค้าค่อนข้างสูงอยู่เหมือนกัน ผมพยายามประสานงานโดยให้ธนาคารช่วยตรวจสอบคำสั่งซื้อนี้ให้ แต่อีก 2 วันถัดมาเธอก็บอกจัดส่งสินค้าไปให้เรียบร้อยแล้ว ทำเอาผมตกใจระคนกับแปลกใจว่าเธอแน่ใจได้อย่างไร ว่าจะไม่ถูกลูกค้ารายนี้โกง

เธอเล่าว่า เข้าไปในเว็บไซต์ http://www.google.com/ แล้วลองเสิร์ชหาชื่อลูกค้ารายนี้ ปรากฏว่าเขาเป็นเจ้าของภัตตาคารหลายแห่งในอเมริกา ด้วยเหตุนี้ เธอจึงมั่นใจว่า เขาเป็นลูกค้าตัวจริง และมีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ของเธอ...

วิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีในการตรวจสอบ และป้องกันความเสี่ยงของผู้ขายบนโลกออนไลน์!?

มีอีกวิธีหนึ่งที่เจ้าของเว็บไซต์สามารถตรวจสอบ ความเป็นเจ้าของบัตรเครดิตที่แท้จริงได้ ด้วยการให้ผู้ทำรายการสั่งซื้อ สแกนใบแจ้งหนี้ที่ธนาคาร ส่งให้กับเจ้าของบัตรทุกเดือนมาเพื่อยืนยันและตรวจสอบที่อยู่ให้ถูกต้องตรงกันได้ แต่ในกรณีที่ผู้ทำรายการ ระบุให้ผู้ขายส่งไปให้กับบุคคลที่สาม ซึ่งมีที่อยู่คนละที่กับผู้ถือบัตร โดยอ้างว่าเป็นของขวัญ ก็ยังคงเป็น “ความเสี่ยง” ที่ผู้ขายต้องรับผิดชอบ

ทางผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตเองก็รับรู้ถึงปัญหานี้ จึงคิดค้นระบบตรวจสอบเจ้าของบัตรตัวจริง โดยผู้ที่จะทำการสั่งซื้อสินค้าด้วยบัตรเครดิตจะต้องไปขอรหัสประจำตัว 4 หลัก (คล้ายรหัสบัตรเอทีเอ็ม) เพื่อเป็นการระบุว่า การสั่งซื้อสินค้า ในขณะนั้น เจ้าของบัตรเป็นผู้ลงมือทำรายการด้วยตนเอง

การค้าขายที่มีผลประโยชน์ กับการทุจริต เปรียบไปก็เป็นเหมือนเส้นขนานที่ต้องมีควบคู่กันไป
ผู้ที่คิดจะค้าขายไม่ว่าบนโลกออนไลน์ หรือเช่าร้านเปิดขายสินค้าในช่องทางปกติ คงต้องระมัดระวังกันเอง ว่า อย่าให้เส้นขนานนั้นวิ่งมาบรรจบกัน!

บทที่ 7 กลโกงบนโลกออนไลน์


บทที่ 7 กลโกงบนโลกออนไลน์

ในทุกสังคมปะปนไปด้วยคนดี และคนไม่ดี การทำธุรกิจ ก็ไม่มีการแยกฝั่งว่า คนซื้อดี คนขายไม่ดี ทั้งสองฝ่ายก็ยังมีทั้งคนที่ดีและไม่ดี ดังนั้นผู้ที่คิดจะทำการค้าออนไลน์จึงต้องศึกษาวิธีป้องกัน ไม่ว่าท่านจะตกอยู่ในสถานะใด

ทุกวันนี้การทำค้าบนโลกออนไลน์ใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งนาทีก็มีหน้าเว็บขายของแล้ว บางครั้งประกาศยังไม่ทันเกินชั่วโมงก็มีผู้สนใจโทรศัพท์ติดต่อสั่งซื้อสินค้านั้นทันที โดยเฉพาะในเว็บชุมชนซึ่งมีผู้เข้าชมวันละเป็นแสนคน

ข้อจำกัดของผู้ทำเว็บไซต์สาธารณะ ที่ด้านหนึ่งก็ต้องการปริมาณคนเข้าเยี่ยมชมมากๆ มาร่วมสร้างข้อมูล เพื่อหารายได้จากป้ายโฆษณา แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่มีเวลามาคัดกรองข้อมูลได้ว่า ประกาศใดมาจากกลุ่มมิจฉาชีพ สิ่งที่พวกเขาทำได้คือการ เตือน พยายามคัดเลือกคน ด้วยการสมัครสมาชิก ยืนยันด้วยบัตรประชาชน ระบุตัวตน และขอความร่วมมือจากผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ในการแจ้งลบกระทู้ที่ไม่เหมาะสม...
แต่ก็ยังไม่ได้ผลเสียทีเดียวนัก เพราะอีกซีกหนึ่งของหน้าเว็บ นี้ยังเต็มไปด้วย “บัญชีดำ” พร้อมหมายเลขบัญชีธนาคาร ที่เคยมีผู้โอนเงินไปแล้วไม่ได้รับสินค้าอยู่มากมาย.....

รายชื่อบัญชีของบุคคลเหล่านี้ บางทีก็มิใช่ผู้ที่กระทำความผิดโดยตรง พวกเขาเพียงหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพให้ไปเปิดบัญชีธนาคารทิ้งไว้ โดยยอมรับเงินค่าจ้างเพียง 500 บาท จากนั้นคนเหล่านี้ก็เอาบัตรเอทีเอ็มของเขาไป รอเบิกเงินที่มีเหยื่อหลงเชื่อแล้วโอนไปให้

การสาวถึงผู้กระทำความผิดในเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะไปจับเจ้าของบัญชีก็จะได้แต่พวกตาสีตาสา ที่ก็ตกเป็นเหยื่อเหมือนกัน

เรื่องนี้ผู้ซื้อจึงต้องพึงสังวรและเตือนตัวเองว่า “อย่าโลภ” และอย่าไว้ใจคนบนโลกอินเทอร์เน็ตมากเกินไป...
หลายคนยอมรับว่าที่รีบโอนเงินให้ก่อน เพราะเห็นว่า ของมีราคาถูก กลัวผู้อื่นจะมาซื้อตัดหน้า
บางคนใจแข็งไม่ยอมให้เงินก่อน แต่ยังอยากได้สินค้า ซึ่งเป็นโทรศัพท์รุ่นไฮโซ แต่เห็นประกาศขายถูกๆ โดยอ้างว่าร้อนเงิน ดันโทรศัพท์ไปนัดซื้อขายกับเขาอีก คนซื้อนั้นเตรียมเงินไปจ่าย แต่คนขายไม่มีของจะให้ แถมเอาอาวุธไปด้วย สถานที่นัดพบยังเป็นลานจอดรถของห้างร้างไร้ผู้คนอีก คนซื้อรายนั้นเลยถูกสะเดาะเคราะห์ 2 ต่อ สินค้าที่ต้องการก็ไม่ได้, กระเป๋าเงินและทรัพย์สินที่ติดตัวไป ยังโดนคนร้ายไถไปได้อีก....

คราวหน้าไม่แน่ใจก็ให้นัดเจอกันหน้าสถานีตำรวจ จะได้ปลอดภัยทั้งสองฝ่าย....

อีกรายเป็นเพื่อนสนิท ที่ทำการค้าออนไลน์มานาน เป็นทั้งคนซื้อและขาย ไล่มาตั้งแต่ที่ดิน, เครื่องคอมพิวเตอร์, ล้อแม๊กซ์ จนทุกวันนี้แทบไม่เชื่อว่า ตัวเองจะถูก “ลบลาย” ได้เหมือนกัน

เขาเล่าว่าหลังจากอ่านประกาศขายโน๊ตบุ๊ครุ่นหนึ่งซึ่งมีสภาพใหม่แต่ราคาถูกมาก เขาสนใจจึงโทรศัพท์ติดต่อนัดให้คนขายมาส่งมอบโน๊ตบุ๊คที่บ้าน แล้วจึงจะชำระค่าสินค้าให้

เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง ก็ยังไม่เห็นคนขายมาถึง โทรศัพท์ไปสอบถามก็ได้ความว่าออกเดินทางมาแล้ว แต่ประสบปัญหาเครื่องยนต์รถขัดข้อง ขณะนี้ต้องจอดซ่อมที่อู่ก่อน ถ้าเรียบร้อยแล้วจึงจะไปต่อได้
อีกสองชั่วโมงถัดมา ฝั่งคนขายจึงโทรศัพท์มาบอกว่าซ่อมเสร็จแล้ว แต่มีปัญหาเรื่องเงินค่าซ่อม ขอให้ผู้ซื้อโอนเงินมาจ่ายค่าซ่อมรถ 2,000 บาท ก่อน จึงจะเอารถขับออกจากอู่ไปส่งโน๊ตบุ๊คให้ได้ โดยเงินจำนวนนี้จะหักจากค่าโน๊ตบุ๊คเลย (โน๊ตบุ๊คตกลงราคาซื้อขายกันที่ 7,000 บาท)

เพราะความใจร้อนอยากได้ของ และเข้าใจไปเองว่าเจ้าของเครื่องโน๊ตบุ๊คนี้คงเดือดร้อนเรื่องเงินทองจึงประกาศขายถูก ๆ เพื่อนผมดันหลงเชื่อไปโอนเงินให้เขาก่อน....

แน่นอนว่า ต่อให้เวลาผ่านไปนานเพียงไร เพื่อนผมคนนี้ก็ไม่มีโอกาสได้สัมผัสโน๊ตบุ๊คเครื่องนั้นอย่างเด็ดขาด!!!

เพราะคนขายหายเข้ากลีบเมฆไปพร้อมกับเงิน 2 พันบาทนั้นแล้ว!!!

ครั้นจะไปตามเอาเรื่องเอาราว ก็คงไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป เพื่อนจึงทำใจได้แต่แผ่เมตตาไปให้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ส่วนประสบการณ์ตรงของผมนั้นเกิดขึ้น เมื่อสมัยเป็นผู้บริหาร บริษัทไอทีที่ให้บริการพื้นที่ฝากเว็บไซต์และมีระบบชำระเงิน ช่วงนั้นผมต้องทำหน้าที่ดูแลบัญชี (Merchant ID) ของลูกค้า ด้วย มีอยู่รายหนึ่งส่งสินค้าไปแล้ว เป็นเวลาเกือบสามเดือน ปรากฏว่าเจ้าของบัตรเครดิตเพิ่งจะปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ทำรายการสั่งซื้อสินค้านี้!? ธนาคารจึงเรียกเงินที่โอนให้คืนทันที (Chargeback)

ปกติก่อนที่ธนาคารจะเรียกเงินคืน (Chargeback) นั้น จะเปิดโอกาสให้เจ้าของสินค้ายื่นหลักฐานคัดค้าน เช่น ในกรณีที่ไม่ได้รับสินค้า, ผู้ขายสามารถนำลายเซ็นต์ในใบกรอกรับสินค้าจากผู้ซื้อมายืนยันได้, แต่กรณีที่เจ้าของบัตรบอกว่าไม่ได้ทำรายการสั่งซื้อเองนั้น เป็นเรื่องยากที่จะหาหลักฐานมายืนยัน ยกเว้นที่อยู่ในการจัดส่งสินค้าคราวนั้นตรงกับที่อยู่ของเจ้าของบัตรฯ ซึ่งเป็นไปได้ที่บุคคลในครอบครัวของเจ้าของบัตรเป็นผู้แอบทำรายการ หากเจ้าของบัตรฯไม่ต้องการสินค้านั้นก็ต้องส่งคืนกลับมายังผู้ขาย

ปัญหาคือ ที่อยู่ในการจัดส่งสินค้าส่วนมากมักจะไม่ตรงกับที่อยู่ของเจ้าของบัตรเครดิต!!??

ถ้าเป็นรายการสั่งซื้อมูลค่าน้อยประมาณ 10-20 เหรียญ เจ้าของสินค้ามักถือว่าเป็นการฟาดเคราะห์ เพราะถือว่าไม่คุ้มกับการต้องเสียเวลา ไปติดต่อตามหลักฐานจากบริษัทขนส่ง

แต่สินค้าคราวนี้เป็นแหวนเพชร ตีมูลค่าเป็นเงินบาทไทยในคราวนั้นตกวงละ 1หมื่น 2 พันบาท
รวม 2 วง มูลค่า 2 หมื่น 4 พันบาท เจ้าของสินค้าไม่ยอมแน่นอน เพราะเธอถือว่าเสียของไปแล้ว และมูลค่าแหวนเพชรก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว พอสินค้าพ้นประตูร้านไปแล้ว มูลค่ามันลดลงโดยปริยาย

ผมตกเป็นเจ้าทุกข์แบบไม่ได้เตรียมใจมาก่อน เพราะเงินจำนวนดังกล่าวผมเป็นผู้ทำเรื่องเบิกจากบริษัทฯ ชำระค่าสินค้าให้เธอไปเรียบร้อยแล้ว!!!!

งานนี้ถ้าหาเงินมาคืนบริษัทไม่ได้ ผมต้องถูกตัดเงินเดือนตามระเบียบ

การฉ้อโกงผ่านทางอินเทอร์เน็ตในสมัยนั้น ยังไม่รู้เลยครับว่าจะไปแจ้งความที่ไหน เพราะร้านค้าบนโลกออนไลน์นั้นขายของได้ทุกสถานที่...

สงสัยว่าบุญเก่าผมยังมี เจ้าของร้านอัญมณีรายนี้ พบว่าผู้ซื้ออยู่จังหวัดฉะเชิงเทรา ไม่ไกลจากที่ตั้งบริษัทเธอ ที่อยู่รังสิต.... ด้วยความกังวล ว่าสินค้าจะตกหล่นหายระหว่างขนส่ง เธอจึงขับรถไปส่งสินค้าให้ลูกค้ากับมือ

ใช้สถานีรถไฟจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นที่รับมอบสินค้า...
ผมจึงไปแจ้งความที่ สภอ. ฉะเชิงเทรา

ไปครั้งแรกก็ต้องเล่ากระบวนการซื้อขายของผ่านเว็บไซต์ให้ร้อยเวรที่รับแจ้งฟังจนเหนื่อย ทางเจ้าหน้าที่ก็ดีใจหายพยายามเปิดตำรากฏหมายว่าจะใช้มาตราไหนมาเอาผิดผู้ร้าย เพราะยุคนั้นยังไม่มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ดูจากสภาพการณ์ที่เอาของผู้อื่นไปโดยมิชอบแล้วน่าจะเข้าข่าย “ฉ้อโกง” หรือไม่ก็ “ยักยอกทรัพย์”
รู้ชื่อและที่อยู่ผู้กระทำผิดแล้ว ก็ยังยกกำลังตำรวจไปจับไม่ได้ ต้องออกหมายเรียกตามกฏหมาย 2 ครั้ง จึงจะออกหมายจับผู้กระทำความผิดได้...

กรณีแบบนี้ ถ้าผู้ขายมีความรอบคอบ ควรจะให้ผู้ซื้อถ่ายสำเนาบัตรประชาชนมาพร้อมเซ็นชื่อรับสินค้าไป ถ้ามีหลักฐานใบนี้จะช่วยให้ตำรวจสรุปสำนวนและทำคดีได้ง่ายขึ้น
เกือบสองสัปดาห์ จนผมทำเรื่องตัดเงินเดือนตัวเองเตรียมเสนอผู้บริหารเรียบร้อยแล้ว ก็ได้รับข่าวดีว่าให้มาดูตัวผู้ต้องหา เพราะตำรวจจับได้แล้ว พร้อมของกลาง!

พอเห็นหน้าผู้ต้องหา ผมตะลึงนึกไม่ถึงว่าจะเป็นผู้หญิงวัยไม่เกิน 23 ปี ที่สำคัญเธอมีปัญหาทางด้านสุขภาพด้วย เธอเครียดเกร็งกำเริบทุกครั้งที่ตำรวจสอบปากคำ...
.
เธอเล่าว่า ในขณะที่เธอไปใช้บริการ อินเทอร์เน็ต ในร้านคาเฟ่อินเทอร์เน็ตแห่งหนึ่ง ได้มีโอกาสแชตกับผู้ชายที่อยู่ต่างประเทศคนหนึ่ง เขาบอกว่าจะให้แหวนวงหนึ่งแก่เธอตอบแทน ถ้าเธอให้ที่อยู่ในการรับสินค้ากับเขา เธอหลงเชื่อตอบตกลง เพราะคิดว่าไม่เสียหายอะไร ในเวลาต่อมา เธอก็ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าของร้านอัญมณีว่าจะเอาแหวนมาส่งให้ 2 วง เธอก็ไปรับของตามปกติ ผู้ชายยังแชตมาบอกให้เธอส่งแหวนที่ได้รับนั้นมาให้เขาวงหนึ่งด้วย ซึ่งเธอก็จัดส่งไปให้ตามที่อยู่ในต่างประเทศที่เขาระบุ!!!

ขั้นตอนเหล่านี้ถูกทำกับร้านเพชรพลอยร้านอื่นๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งโดนตำรวจซ้อนแผน แกล้งมาส่งแหวนแล้วทำการจับกุมทันที

เมื่อติดตามไปที่บ้านผู้ต้องหาพบเครื่องคอมพิวเตอร์ และแหวนของร้านเพชรร้านอื่น ส่วนแหวน 2 วงที่เกือบทำให้เงินเดือนผมพร่องไปนั้น เจอแค่เพียงวงเดียว เพราะอีกวงเธอบอกส่งให้กับชายนิรนามนั้นไปแล้ว
เธอยอมรับผิดและยินดีจ่ายค่าเสียหายในครั้งนี้ ผมขอรับเป็นเงินสดเท่ามูลค่าที่จ่ายให้กับเจ้าของร้านอัญมณีนั้นไป เพราะเกิดความสงสาร เนื่องจากสุขภาพเธอทำท่าว่าจะทรุดหนัก เธอเอาแหวนที่เหลืออยู่ไปขายให้กับร้านเพชรในละแวกนั้น ได้เงินมาเพียง 5 พันบาท ส่วนที่เหลือต้องหยิบยืมญาติมาเติมให้จนครบ

ผมอยากซื้อหนังสือ “ไม่มีของฟรีในโลก” ให้เธออ่าน......
แต่รู้ดีว่าตอนนี้ เธอได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง
เธอคงไม่ต้องการหนังสือเล่มนั้นแล้วหล่ะ!?!